โรคฮีทสโตรก (Heatstroke) หลายคนอาจมีความสงสัยว่าทำไมถึงอันตราย และทำไมในช่วงฤดูร้อนเหล่าน้องหมาถึงเป็นโรคฮีทสโตรกกันมากกว่าปกติ? วันนี้ด็อกคลิปจึงได้รวบรวมข้อมูลทั้งคำอธิบาย ลักษณะอาการ วิธีป้องกัน และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นมาฝากครับ รู้ไว้ย่อมดีกว่า! หากน้องหมาต้องเผชิญกับโรคฮีทสโตรกจะได้เข้าใจ และมีทักษะพร้อมช่วยเหลือเหล่าน้องหมาแสนรักให้ผ่านช่วงวิกฤติ เพื่อพาเข้ารับการรักษากับสัตวแพทย์ได้อย่างทันท่วงทีต่อไปครับ
.
ทำความรู้จักกับโรคกัน!
โรคฮีทสโตรก (Heatstroke) หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ “โรคลมแดด” จะเกิดขึ้นกับน้องหมาที่สูญเสียการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ซึ่งจะส่งผลเสียต่ออวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายตามมา ทั้ง ตับ ไต หัวใจ หลอดเลือด กล้ามเนื้อรวมไปถึงสมองด้วย หากร่างกายมีอุณหภูมิสูงมากก็จะยิ่งส่งผลเสียต่ออวัยวะอื่น ๆ ภายในร่างกายจนทำให้เกิดภาวะล้มเหลวและเสียชีวิตได้ ปกติแล้วอุณหภูมิร่างกายของน้องหมาจะอยู่ที่ประมาณ 38 - 39 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียสเมื่อไหร่ ร่างกายจะแสดงอาการของโรคฮีทสโตรกหรือโรคลมแดดทันที ทั้งนี้อาการของโรคเกิดขึ้นได้ในทุกฤดูกาล ซึ่งปัจจัยหลักที่เข้ามากระตุ้นร่างกายน้องหมาจนทำให้เกิดโรคฮีทสโตรกได้นั้นสามารถแยกออกเป็น 2 กรณี คือ
1.เกิดจากสภาวะแวดล้อมภายนอกเป็นตัวแปรกระตุ้น เช่น อากาศร้อน หรือ ได้รับสารพิษ เป็นต้น
2.เกิดจากความผิดปกติภายในร่างกาย เช่น ป่วยเป็นไข้ และมีอาการอักเสบร่วมด้วย หรือมีการอุดตันของทางเดินหายใจจนเป็นอุปสรรคในการหายใจเพื่อระบายความร้อน เป็นต้น
.
น้องหมาสายพันธุ์ไหนที่มีโอกาสเป็นโรคฮีทสโตรกได้ง่าย!!!
น้องหมาตัวใหญ่ สายพันธุ์ขนยาว และน้องหมาสายพันธุ์หน้าสั้นที่มักจะพบว่ามีปัญหาเรื่องของการหายใจอยู่แล้ว การหายใจเป็นการช่วยระบายความร้อนภายในร่างกายให้กับน้องหมาอีกทาง หากพบว่ามีปัญหาในการหายใจ การระบายความร้อนก็จะเป็นอุปสรรคด้วยเช่นกัน
.
ลักษณะอาการของโรค
สังเกตได้จากอุณหภูมิร่างกายของน้องหมาจะพบว่าเริ่มสูงกว่า 39 องศาเซลเซียส มีอาการหายใจลำบาก หอบ กระหายน้ำรุนแรง น้ำลายเหนียวไหลยืด ลิ้นเริ่มแผ่ขยายใหญ่ออกมามากกว่าปกติ ใบหูแดงและร้อน บางรายตาแดง เหงือกมีสีแดงเข้มแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือม่วง เหงือกหรือจมูกแห้ง มีอาการเซ สับสนมึนงง บางรายจำเจ้าของไม่ได้มีอาการดุร้ายชั่วคราว บางรายร่างกายเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย มีอาการชัก อาเจียน ท้องเสียเฉียบพลัน หากน้องหมาไม่สามารถรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นได้สามารถเสียชีวิตได้ทันที ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคฮีทสโตรกในน้องหมามีความแตกต่างกันไปตามขนาดรูปร่าง และระยะเวลาที่อยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศร้อนจัด ยิ่งนานยิ่งเป็นอันตรายกับน้องหมา
.
การปฐมพยาบาล
หากพบว่าน้องหมามีอุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้น เริ่มมีอาการเหนื่อยหอบ น้ำลายเหนียว ใบหูแดงแล้ว
1.รีบพาน้องหมาออกจากพื้นที่ที่มีสภาพอากาศร้อนอบอ้าวไม่ถ่ายเท บริเวณกลางแจ้งที่มีแดดจัดหรือสถานที่จะส่งผลทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายน้องหมาเพิ่มขึ้น พาน้องหมาไปอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก บริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าทันที
2.ช่วยลดอุณหภูมิร่างกายน้องหมาให้ต่ำลงซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว หรือรดพรมบริเวณลำตัว เน้นบริเวณอุ้งเท้า ใต้ขาหนีบ ท้อง หรือราดน้ำบนพื้นเย็นในที่ร่มให้น้องหมานอนแผ่ เปิดน้ำในกะละมังให้น้องหมานอนแช่ ( น้ำไม่ควรเย็นจัด ) เปิดพัดลมช่วยอีกแรงก็ได้เช่นกัน
3.ให้น้องหมาดื่มน้ำเย็น ( ไม่ควรเย็นจัด) หรือน้ำอุณหภูมิห้อง ไม่ควรบังคับให้น้องหมากินน้ำทันทีอาจจะเกิดการสำลักน้ำได้ ควรให้กินน้ำในปริมาณที่พอดีไม่มากจนเกินไปเพราะอาจทำให้น้องหมาอาเจียนได้
4.พาไปพบสัตวแพทย์ตรวจเช็คร่างกายให้แน่ใจว่า อวัยวะภายในร่างกายของน้องหมาไม่ได้เกิดความเสียหายใด ๆ จากโรคฮีทสโตรก เนื่องจากน้องหมาบางตัวอาจเกิดภาวะเลือดแข็งตัวทั่วร่างกาย สมองบวมน้ำ หรือมีภาวะไตวายขณะเป็นโรคฮีทสโตรกได้ แต่ทว่าไม่แสดงอาการให้เห็นเท่านั้น ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว หากปล่อยทิ้งไว้น้องหมาอาจจะเสียชีวิตได้
.
.
สิ่งที่ไม่ควรทำ!!!
ใช้น้ำแข็งประคบตัวน้องหมาโดยตรง ใช้น้ำเย็นจัดลูบตัวและให้น้องหมากินทันที หรืออุ้มน้องหมาลงไปแช่ในถังน้ำเย็นจัดทั้งตัวขณะที่มีอุณหภูมิในร่างกายสูงและมีอาการเหนื่อยหอบหนัก ๆ เนื่องจากเป็นวิธีที่จะทำให้ร่างกายของน้องหมาปรับตัวไม่ทัน เสียสมดุล ส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณผิวหนังหดตัว ส่งผลให้ความร้อนถูกกักเก็บไว้ในร่างกายเช่นเดิมแทนที่จะถูกระบายออกนอกร่างกาย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมาได้เช่น หัวใจวายเฉียบพลัน ท้องอืด เป็นต้น
.
ดังนั้นเมื่อน้องหมาอยู่ในอาการเหนื่อยหอบหนักควรเช็ดตัว ให้น้ำอุณหภูมิห้อง เป่าลมเย็น รีบพาน้องหมาเข้าที่ร่มก่อนสักพักให้น้องหมาได้ปรับตัว แล้วจึงจะสามารถเปลี่ยนเป็นน้ำเย็นและน้ำแข็งได้ นอกจากนี้การใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นแล้วห่อตัวให้กับน้องหมาก็ไม่ควรทำด้วยเช่นกัน เพราะนอกจากจะไม่ช่วยระบายความร้อนแล้วยังเป็นการกักเก็บความร้อนทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายน้องหมายังคงสูงขึ้นแทนที่จะถูกระบายออก
.
วิธีป้องกัน
1.หลีกเลี่ยงต้นเหตุการณ์เกิดโรค งดทำกิจกรรมกลางแจ้งขณะที่มีสภาพอากาศร้อนอบอ้าว ซึ่งรวมถึงการปล่อยน้องหมาไว้ในรถตามลำพังขณะที่ดับเครื่องยนต์และปิดกระจกสนิท สำหรับน้องหมาสายพันธุ์ที่มีขนหนาและยาว สายพันธุ์หน้าสั้น เช่น ปั๊ก เฟรนช์บูลด็อก และ บูลด็อก ซึ่งมักจะพบว่ามีปัญหาการหายใจยิ่งควรหลีกเลี่ยงและต้องดูแลมากเป็นพิเศษ ควรเลือกสถานที่ ช่วงเวลาและระยะทางที่เหมาะสมสำหรับการพาน้องหมาออกไปเดินเล่น น้องหมาที่เคยมีประวัติเป็นโรคฮีทสโตรกยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะพวกเขาอ่อนไหวกับสภาพอากาศ และต้นเหตุที่จะนำไปสู่การกำเริบของโรคได้ง่าย
.
2.ตัดแต่งขนน้องหมาให้สั้นเหมาะกับสภาพอากาศ น้องหมาบางสายพันธุ์ที่มีขนหนา และยาวในช่วงฤดูร้อนสามารถตัดแต่งขนพวกเขาให้สั้นลงได้ แต่ไม่ควรตัดจนเหี้ยนเกรียนติดผิวหนัง เพราะนั่นอาจจะเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี เนื่องจากรังสีและความร้อนจากแสงแดดสามารถทำลายผิวหนังของน้องหมาได้โดยตรงเมื่อไร้ขนปกป้องจนเกิดอาการไหม้เป็นแผลแสบคันได้ นอกจากนั้นแล้วสภาพที่ไร้ขนยังทำให้น้องหมาต้องเผชิญกับแมลงศัตรูร้ายได้ง่ายขึ้นมาก หากไม่แน่ใจว่าต้องตัดให้สั้นแค่ไหนก็ควรให้ผู้เชี่ยวชาญร้านกรูมมิ่งช่วยดูแล และที่สำคัญจุดที่ควรตัดให้สั้นที่สุดคือ ขนบริเวณอุ้งเท้า!
.
3.จัดเตรียมพื้นที่อยู่อาศัยตำแหน่งวางกรงน้องหมาอย่างเหมาะสม บริเวณนั้นควรมีอากาศถ่ายเทเย็นสบาย บ้านไหนมีงบมากก็ติดพัดลม เครื่องปรับอากาศเพิ่มได้ ที่นอนหม้อดินดีไซน์เก๋ก็น่าสนใจนะครับ มีถาดน่ารัก ๆ ไว้รองน้ำแข็งด้านบนเพื่อช่วยประจายความเย็นดับร้อนให้น้องหมาได้ดีเลย ส่วนบ้านไหนเลี้ยงน้องหมาไว้ในบ้านอยู่แล้วก็ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่นักเปิดแอร์เย็น ๆ มานอนเล่นด้วยกัน เย็นสบายกันทั้งบ้านได้เลย แต่ก็ต้องเตรียมรับมือกับค่าไฟไว้บ้างนะครับ เหอ ๆ เพราะดูเหมือนค่าไฟจะปรับราคาแพงจนหลายบ้านออกมาบ่นอุบกันเต็มโซเชียลเลย
.
4.จัดเตรียมภาชนะรองน้ำไว้ให้น้องหมาอย่าให้ขาด และหมั่นเปลี่ยนน้ำในภาชนะเพื่อป้องกันโรคท้องร่วงที่มักจะมาในช่วงฤดูร้อน รวมถึงไม่ควรเทอาหารทิ้งไว้ในชามอาหารให้น้องหมาด้วย เพราะอาการร้อนยิ่งทำให้อาหารเสียง่าย ขณะพาน้องหมาไปเดินเล่นก็อย่าลืมกรอกน้ำเย็นใส่ขวดพกติดตัวไปด้วย เมื่อน้องหมาเหนื่อยหอบก็จะได้มีน้ำให้น้องหมากิน แล้วยังแบ่งใช้ลูบตัวน้องหมาได้ด้วยครับ
.
5.อากาศร้อน พาน้องหมาลงเล่นน้ำในร่มก็ช่วยทำให้คลายร้อนได้เหมือนกันนะครับ แต่อย่าลืมนะว่าน้องหมาต้องไม่อยู่ในอาการเหนื่อยหอบจากการทำกิจกรรมหนักๆ มาก่อน เพราะอาจทำให้น้องหมาสำลักน้ำได้ครับ เล่นน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้วอย่าลืมเช็ดตัวน้องหมาให้แห้งด้วยเดี๋ยวจะไม่สบายเอาน้า…
.
ยินดีด้วยสำหรับผู้ปกครองน้องหมาที่อ่านจนจบ ผู้ปกครองที่ดีควรใส่ใจและมีความรู้เกี่ยวกับโรคฮีทสโตรกหรือลมแดดไว้บ้าง เพื่อจะได้ดูแลน้องหมาที่รักได้อย่างถูกวิธี รู้ป้องกันหลีกเลี่ยงไม่ให้น้องหมาต้องตกไปอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงอันตราย และหากเกิดโชคร้ายก็จะได้มีความรู้ความเข้าใจช่วยชีวิตน้องหมาแสนรักไว้ได้ทันท่วงที
.
.
.
.
ช่วยกดไลก์ กดแชร์ เป็นกำลังใจให้ Dog’s Clip ด้วยนะครับ
หากมีประสบการณ์ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจของเหล่าเพื่อนสัตว์
อย่าลืมส่งมาแบ่งปันด็อกคลิปนะครับ เรื่องราวของคุณอาจสร้างแรงบันดาลใจ
หรือช่วยให้เหล่าเพื่อนสัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
กดเพื่อเข้าร่วมกลุ่มด็อกคลิป , กดเพื่อส่งเรื่องราวของคุณ หรือติดแฮชแท็ก #dogsclip
..................................................................
บทความโดย dogsclip.com
“บทความถูกรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยสำนวนของด็อกคลิป บทความมีลิขสิทธิ์ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก และ หรือ ดัดแปลงนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อสร้างรายได้ก่อนได้รับอนุญาต”
.
.