แพทย์ยืนยัน ขนน้องหมาน้องแมวไม่เข้าปอด  เลิกเชื่อแบบผิดๆ 

...กำลังโหลดข้อมูล...

.

.

.

หลายคนคงเคยได้รับข้อมูลมาบ้างว่า "ขนของน้องหมาน้องแมวสามารถหลุดเข้าไปติดอยู่ภายในปอดของผู้เลี้ยงที่มักจะคลุกคลีใกล้ชิดกับน้องหมาน้องแมวอยู่เป็นประจำ จนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในเวลาต่อมา" ซึ่งความจริงแล้วล้วนเป็นความเข้าใจผิด! แต่ชุดข้อมูลดังกล่าวกลับถูกนำเสนอโดยสื่อที่น่าเชื่อถือผ่านทางรายการโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยมีการจั่วหัวข้อในการนำเสนอด้วยข้อมูลซึ่งเป็นเพียงแค่สมมุติฐานเพื่อดึงดูดความน่าสนใจจากผู้รับสารหรือประชาชนผู้บริโภค แทนที่จะเลือกนำข้อเท็จจริงซึ่งเป็นสาระสำคัญมาใช้ ยิ่งร้ายไปกว่านั้นสื่อบางสำนักนำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จแต่กลับย้ำหนักแน่นว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว 
.
ผลที่ตามมาจึงก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน บางครอบครัวเกิดปัญหาไม่เข้าใจกันเหตุเพราะสมาชิกบางคนรู้สึกเป็นห่วงคุณภาพชีวิตของสมาชิกในบ้านจนกลายเป็นความกลัวและวิตกจริต จึงพยายามกดดันให้สมาชิกในบ้านพาน้องหมาน้องแมวไปปล่อยทิ้ง ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับคนรักน้องหมาน้องแมวแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นสร้างความรู้สึกอึดอัดใจเพราะไม่สามารถทำตามคำขอจากสมาชิกในครอบครัวได้แม้รู้ดีว่าเป็นความหวังดีก็ตาม
.
ในขณะที่บางครอบครัวเลี้ยงน้องหมาน้องแมวตามกระแสก็ฉวยโอกาสหยิบยกชุดข้อมูลผิด ๆ มาเป็นข้ออ้างพาน้องหมาน้องแมวไปปล่อยทิ้งในพื้นที่สาธารณะให้กลายเป็นสัตว์จรจัดอย่างไม่ไยดีจนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเพิ่มจำนวนสัตว์จรจัดที่นำไปสู่ปัญหาโรคระบาด การทารุณกรรม และมิจฉาชีพใจบาปนำสัตว์จรจัดที่เจ็บป่วยไปเปิดรับบริจาคเป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้สร้างภาระให้กับองค์กรภาครัฐ เอกชนและกลุ่มคนรักสัตว์ต้องเข้ามาแก้ปัญหา ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท
.
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าขนน้องหมาน้องแมวจะไม่สามารถเข้าไปในปอดได้ แต่พวกเขายังเป็นพาหะนำโรคและสาเหตุของอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ในมนุษย์ได้ ซึ่งไม่น่ากังวลใจหากทำความเข้าใจและปฎิบัติตามอย่างถูกวิธี ( ข้อมูลเพิ่มเติมท้ายบทความ ) 

.

Pinterest

.
เห็นได้ชัดว่าความเข้าใจผิดนำไปสู่ปัญหาหลายอย่างตามมา อย่างไรก็ตามสื่อบางสำนักยังคงติดตามรอข้อสรุปจากการพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากขนของน้องหมาน้องแมวหรือไม่โดยทีมแพทย์ เพื่อนำข้อเท็จจริงมานำเสนอสร้างความเข้าใจใหม่แก่ประชาชนอีกครั้ง ซึ่งเมื่อระยะเวลาผ่านไปทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแพทย์ผู้รักษาเจ้าของไข้ผู้เสียชีวิตมักจะให้ข้อสรุปคล้าย ๆ กันว่า "ขนของน้องหมาน้องแมวไม่ได้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต แต่สาเหตุที่แท้จริงกลับเป็นโรคที่ผู้เสียชีวิตนั้นเคยป่วยเรื้อรังและมีการแสดงอาการมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ซึ่งตัวโรคได้ลุกลามหนักขึ้นจนร่างกายไม่สามารถทนต่อสภาพร่างกายที่เจ็บป่วยจนเป็นเหตุของการเสียชีวิตในที่สุด " 
.
โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางก็ได้ร่วมอธิบายให้ข้อมูลเพิ่มเติม ถึงหลักการและเหตุผลที่แสดงชัดว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่ขนน้องหมาน้องแมวจะหลุดเข้าไปติดอยู่ภายในปอดของมนุษย์ ขณะที่ญาติของผู้เสียชีวิตเองก็ได้ให้ข้อมูลตามจริงว่า "ขนของน้องหมาไม่ได้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต" ที่ผ่านมาเป็นการนำเสนอข่าวที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้าง

.
โชคไม่ดีนักที่การนำเสนอข้อเท็จจริงไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากเท่าสมมุติฐานเรียกเรตติ้ง ทำให้มีหลายคนเชื่อและเข้าใจผิดว่าขนของน้องหมาน้องแมวเข้าไปติดในปอดได้!  ซ้ำร้ายกลุ่มคนดังกล่าวยังได้นำชุดข้อมูลผิด ๆ นี้ไปเป็นข้ออ้างเพื่อแสดงความรังเกียจและทอดทิ้งน้องหมาน้องแมวให้เป็นสัตว์จรจัดอย่างไรสำนึกซ้ำอยู่เรื่อย ๆ อีกด้วย 

.
เพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อมูลที่กล่าวอ้างข้างต้นด็อกคลิปขอยกตัวอย่างจาก 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเคยเป็นข่าวดังที่สร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนจำนวนมากและมักจะถูกหยิบยกมาเป็นข้ออ้างในเชิงลบ จนทำให้น้องหมาน้องแมวและผู้เลี้ยงถูกรังเกียจ

.
เหตุการณ์ที่ 1 จากกรณีที่ปรากฏข่าวว่าเมื่อวันที่ 9 เดือนเมษายน พ.ศ.2556 พระเกจิชื่อดัง จ.นครสวรรค์ อาพาธหนัก ได้เข้าพักรักษาอาการที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ได้พบเห็บในโพรงจมูก มีขนน้องหมาอยู่ในปอดและมีไข่เห็บฝั่งอยู่ใต้ผิวหนังของท่าน ก่อนท่านจะมรณภาพในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เจ้าคุณไกร

.
ซึ่งภายหลัง นพ.ศักดิ์ชัย นิลวัชรารัง ผอ.รพ.สวรรค์ประชารักษ์ กล่าวยืนยันว่า จากการตรวจรักษาอาการไม่พบเห็บหมัด รวมถึงขนน้องหมาภายในร่างกายของพระเกจิแต่อย่างใด โดยก่อนหน้านั้นพระคุณเจ้าได้เข้ารับการรักษาอาการโรคเบาหวานมาหลายโรงพยาบาลแล้ว จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556 ได้มาเข้ารับการรักษาอาการอาพาธที่ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ และคณะแพทย์ได้ตรวจสอบใบรายงานอาการป่วยแล้วพบว่า พระคุณเจ้าอาพาธด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ระยะที่ 4 จากนั้นก็มีอาการทรุดลงเรื่อย ๆ  จนกระทั่งถึงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556 เกิดอาการน้ำท่วมปอด พร้อมกับช็อก และหยุดหายใจไปนานเกือบ 10 นาที จนทำให้แพทย์เจ้าของไข้ต้องรีบนำตัวเข้ารักษาภายในห้องไอซียูเป็นการด่วน 

.
"จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบเหมือนกันว่าไปเอาข่าวมาจากไหนมานำเสนอ แต่เท่าที่ทราบพระเกจิรูปนี้ท่าน ชอบเลี้ยงสุนัข และมักจะนำสุนัขเข้าไปนอนด้วยเสมอ จนอาจเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดข่าวลือขึ้น แต่อย่างไรก็ดีในส่วนของทางโรงพยาบาล ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริงเพราะได้เอกซเรย์ตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว ไม่พบเห็บหมัดหรือขนสุนัขตามที่ข่าวได้เผยแพร่แต่อย่างใด" 
นพ.ศักดิ์ชัย นิลวัชรารังกล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าวเดลินิวส์

.
ต่อมาวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2556 น.พ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ( TCELS ) ก็ได้ออกมายืนยันเช่นกันว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ที่เห็บ หมัด และขนสัตว์จะเข้าไปก่ออันตรายในปอดของมนุษย์ เพราะปอดประกอบด้วยถุงลมขนาดเล็ก และหลอดลมฝอยที่มีขนาดเล็กมาก หากจะจับขนสัตว์เข้าไปในปอดให้ได้ก็เหมือนกับต้องสนเข็มเข้าไปในที่แคบมากๆ อีกทั้ง ปาก คอ และจมูกของคนเราก็มีกลไกป้องกันสิ่งแปลกปลอมจำพวกขนอยู่ ที่ถุงลมปอดเองก็มีเซลล์ที่คอยดักจับสิ่งแปลกปลอมนี้อีกชั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยกับข่าวที่ออกมา

.

ภาพแสดงขนาดของอนุภาคแต่ละตำแหน่งในระบบทางเดินหายใจที่จะสามารถเข้าไปได้

ภาพแสดงขนาดของอนุภาคแต่ละตำแหน่งในระบบทางเดินหายใจที่จะสามารถเข้าไปได้

.

เหตุการณ์ที่ 2 จากกรณีที่ปรากฏข่าวว่า วันที่ 17 เดือน กรกฏาคม พ.ศ. 2557 เด็กหญิง อายุ 13 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนแห่งหนึ่ง ได้เสียชีวิตจากอาการปอดติดเชื้ออย่างรุนแรง ซึ่งไม่ได้เกิดจากอาการโรคประจำตัวแต่อย่างใด ทว่าเป็นผลมาจากเด็กหญิงคนดังกล่าวได้คลุกคลีอยู่กับน้องหมาและลิงมาตั้งแต่เด็ก หลังจากที่มีอาการป่วยทรุดหนักลงเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557  แพทย์ตรวจสอบและวินิจฉัยโรคจึงพบว่า เด็กหญิงคนดังกล่าวมีขนสัตว์ติดอยู่ในช่องปอดทำให้ปอดอักเสบ!

.

เด็กหญิงวัย 13 ปี ที่เสียชีวิต

เด็กหญิงวัย 13 ปี ที่เสียชีวิต

.
ซึ่งภายหลัง วันที่ 18 เดือน กรกฏาคม พ.ศ. 2557 น.พ.ชัยยุทธ ศักดิ์ศรชัย ผอ.โรงพยาบาลตรัง ได้ออกมาเปิดเผยว่า เด็กเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์ ก็เสียชีวิตลงด้วยโรคปอดติดเชื้อ จนทำให้ปอดบวม และวินิจฉัยได้ว่าเป็นวัณโรคปอด แต่ยืนยัน 100% ว่า ไม่มีขนน้องหมาหรือขนน้องแมวปะปนในช่องปอดแต่อย่างใด และเป็นไปไม่ได้ว่าจะสามารถเอกซเรย์เห็นขนน้องหมา หรือขนน้องแมวในช่องปอด ซึ่งข่าวที่เกิดขึ้นคงเป็นกระแสข่าวลือมากกว่า

.
"นอกจากนี้ยังไม่เคยมีปรากฏในวงการแพทย์ว่า เชื้อราที่เป็นในสัตว์จะติดต่อสู่คนได้ เนื่องจากเป็นโรคคนละชนิดกัน สำหรับโรคที่น้องเป็นจนทำให้เสียชีวิตนั้น เป็นโรคปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ประชาชนที่เลี้ยงสุนัขหรือแมวที่ติดตามข่าวสารนี้ ก็อย่าตื่นตระหนกและสามารถเลี้ยงได้ตามปกติ " 

น.พ.ชัยยุทธ ศักดิ์ศรชัย กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าวไทยรัฐ

.

หลังจากนั้นสำนักข่าวเดลินิวส์ ได้นำเสนอบทสัมภาษณ์ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ระบบทางเดินหายใจกับกรณีขนน้องหมาที่เข้าไปติดที่ปอดและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของเด็กหญิงอายุ 13 ปีว่า  ไม่เป็นความจริงและเป็นไปไม่ได้ เพราะร่างกายมีระบบป้องกันสิ่งแปลกปลอม บริเวณจมูกมีทั้งขนจมูก และเมือกคอยจับเอาไว้ แม้จะเข้าไปในร่างกาย แต่ร่างกายก็สามารถที่จะไอขับออกมาได้

.
ทั้งนี้ตนเคยส่องกล้องเข้าไปในปอดคนไข้นับพันราย ไม่เคยปรากฎว่าพบเห็นขน หรือ เส้นผมในปอด ส่วนสิ่งที่พบเห็นคือสิ่งแปลกปลอม เช่น เศษอาหาร  เศษหมูหย็อง เมล็ดผลไม้ ซึ่งเกิดจากการสำลักเวลากลืนอาหาร โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เคยมีอยู่กรณีหนึ่งคนใช้ปากคาบตะปูเอาไว้ เผลอพูดแล้วหลุดเข้าไปในหลอดลม  ก็ต้องส่องกล้องและใช้คีมคีบออกที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นเส้นผมหรือขน ขณะที่ในต่างประเทศประชาชนส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงน้องหมาน้องแมวและได้คลุกคลีใกล้ชิดก็ไม่พบรายงานในเรื่องนี้ และไม่เคยเห็นขนน้องหมาในปอด ส่วนตัวอยู่ต่างประเทศเป็นสิบ ๆ ปีก็ยังไม่เคยพบเห็น  เพราะอย่างที่บอกร่างกายของคนเรามีกลไกในการปกป้องตัวเอง ถ้าโดยทั่วไปแล้วดูเหมือนว่าขนหรือเส้นผมของคนจะเข้าไปในระบบทางเดินหายใจได้ง่ายแต่ก็ยังไม่เคยพบเห็นเช่นกัน

ขนาดของเส้นผมคนและขนาดขนของน้องหมา

.

ทั้งนี้การเอกซเรย์ คอมพิวเตอร์ การฉายรังสีจะไม่สามารถมองเห็นขนหรือผมได้ จะต้องเอากล้องเข้าไปส่องดู ซึ่งเป็นวิธีเดียว แล้วทางแพทย์ทราบได้อย่างไรว่ามีขนอยู่ในปอดจากภาพเอกซเรย์ นั่นก็แสดงให้เห็นว่าข้อมูลที่อ้างถึงไม่เป็นความจริงแล้ว คุณหมอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในเด็กกลไกร่างกายและการป้องกันจะแข็งแรงมาก และสิ่งแปลกปลอมที่มักจะพบส่วนใหญ่เกิดกับคนไข้สูงวัยมักจะสำลักอาหารขณะกลืน

.

ภาพเอกซเรย์ บริเวณศีรษะ ซึ่งมองไม่เห็นเส้นผม

ภาพเอ็กเซอร์เรย์ บริเวณศีรษะ ซึ่งมองไม่เห็นเส้นผม

.
ส่วนการติดเชื้อวัณโรคจากน้องหมาก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะวัณโรคคนไม่ได้ติดจากน้องหมา แต่ติดจากคนสู่คน แต่ก็มีสัตว์บางชนิดที่มีวัณโรค เช่น ช้าง  เสือ ยีราฟ สมเสร็จ ซึ่งสัตว์เหล่านี้ติดวัณโรคจากคนได้เช่นกัน ทั้งนี้ นพ.กฤษดา ศิรามพุช ยังระบุในขณะที่ให้สัมภาษณ์กรณีข่าว พระเกจิชื่อดังอาพาธหนักสาเหตุจากขน เห็บ หมัดของน้องหมา เมื่อปี พ.ศ.2556  ด้วยว่า จริง ๆ แล้วมีผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยแพทย์จอร์เจีย ( Medical college of Georgia ) ออกมาด้วยว่า ขนน้องหมา น้องแมวเป็นเสมือนวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันให้เด็กไม่เป็นภูมิแพ้ง่าย ๆ ด้วย

.

โดยเด็กที่เติบโตมากับบ้านที่เลี้ยงสัตว์ อย่างน้องหมา น้องแมว ในขวบปีแรกจะพบภาวะภูมิแพ้น้อยกว่าเด็กที่ไม่เคยอยู่กับสัตว์เลี้ยงเลย ถึง 66 – 77 % แต่การจะเลี้ยงสัตว์นั้น คนรักสัตว์ต้องรู้ด้วยว่า ควรป้องกันเห็บและหมัดด้วยการล้างพื้นด้วยน้ำยาฆ่าเห็บและหมัด เพราะปกติแล้ว เห็บจะออกไข่และแพร่พันธุ์ตัวอ่อนบนพื้นดินเป็นหลัก โดยเฉพาะตามซอกหลืบอับ ๆ

Pinterest

.
ข้อมูลทั้งหมดด็อกคลิปรวบรวมมามีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่สำหรับใครก็ตามที่กำลังเข้าใจผิดคิดว่าขนของน้องหมาน้องแมวสามารถเข้าสู่ปอดมนุษย์เราได้ ด็อกคลิปหวังว่าองค์ความรู้ คำยืนยันจากประสบการณ์ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ ท่านน่าจะทำให้ใครหลายคนเข้าใจและมีทัศนคติต่อเหล่าน้องหมาน้องแมวเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น รวมถึงครอบครัว คนรอบข้างและตัวผู้เลี้ยงเองคงจะรู้สึกสบายใจขึ้นได้แล้วนะครับ หากคนรอบข้างยังไม่เข้าใจก็ต้องค่อย ๆ อธิบายและใช้เวลาสักพักนะครับ มันคุ้มแน่นอนสำหรับทำให้คนที่รักและเป็นห่วงเรามากที่สุดคลายกังวลและสบายใจขึ้น... 
.
ต่อไปนี้จะเอาเหตุผลผิด ๆ มาเป็นข้ออ้างรังเกียจและทอดทิ้งน้องหมาน้องแมวไม่ได้แล้วนะครับ ทางที่ดีควรคิดทบทวนให้รอบด้านตั้งแต่ก่อนรับเลี้ยง การเลี้ยงน้องหมาน้องแมวหรือสัตว์เลี้ยงอื่นใดก็เหมือนกับการมีลูก ผู้เลี้ยงเป็นเสมือนผู้ปกครองมีหน้าที่ดูแลใส่ใจในทุกๆ เรื่องจนกว่าสัตว์เลี้ยงจะสิ้นอายุขัย สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้เลี้ยงพึงมีคือ ความรับผิดชอบ! 

Pinterest

.
ถึงแม้ว่าขนน้องหมาจะไม่สามารถเข้าสู่ปอดได้ แต่ขนน้องหมายังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ด้วย ซึ่งอันที่จริงขนไม่ได้เป็นสาเหตุเพียงอย่างเดียว ทว่าเป็นผลจากการเกิดปฏิกริยากับ “สารก่อภูมิแพ้” ซึ่งเป็นโปรตีน ส่วนประกอบของผิวหนัง สะเก็ดรังแค น้ำลาย ฉี่ รวมถึงขนสัตว์ที่มีน้ำลายเคลือบจากการเลียของน้องหมาและน้องแมว ซึ่งสารก่อภูมิแพ้นี้จะลอยฟุ้งกระจายในอากาศ เมื่อสูดเข้าไปผู้ที่แพ้ก็จะเกิดอาการแพ้ขึ้นได้
.
นอกจากนี้น้องหมายังมีโรคที่สามารถติดต่อสู่คนอีกหลายโรคซึ่งผู้เลี้ยงเองต้องให้ความระมัดระวังเอาใจใส่เรื่องนี้ไว้ด้วยเพื่อจะได้ป้องกันและจัดการควบคุมความเสี่ยงได้ ซึ่งโรคที่อันตรายที่ผู้เลี้ยงต้องระมัดระวังที่บ่อยแบ่งตามกลุ่มของโรคได้แก่

.
1.โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น โรคพิษสุนัขบ้า 
2.โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคฉี่หนูหรือฉี่สุนัข โรคสุนัขแท้ง หรือแท้งติดต่อในสุนัข 
3.โรคที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัว เช่น โรคลิซมาเนียซิสในสุนัข 
4.โรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคคริปโตคอคโคซิส 
5.โรคที่เกิดจากพยาธิภายใน เช่น โรคพยาธิชอนไชอวัยวะภายใน โรคพยาธิชอนไชลูกตา โรคพยาธิชอนไชผิวหนัง 
6.โรคที่เกิดจากพยาธิภายนอก เช่น โรคขี้เรื้อนแห้งในสุนัข โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด
คนติดโรคเหล่านี้โดยวิธีการสัมผัสน้ำลาย สารคัดหลั่ง อุจจาระ ปัสสาวะ การสัมผัสตัวน้องหมาโดยตรง หรือทางอ้อมผ่านทางอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ

.

ผู้เลี้ยงป้องกันโรคต่าง ๆ เหล่านี้ได้ โดยการดูแลสุขภาพน้องหมาน้องแมวให้เป็นปกติแข็งแรงโดยการจัดหาอาหารที่เหมาะสม พาไปออกกำลังกายเป็นประจำ หมั่นทำความสะอาดสถานที่เลี้ยงเพื่อกำจัด การเพาะพันธุ์พาหะ เช่นเห็บ หมัด พาน้องหมาเข้าโปรแกรมฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ รวมถึงโปรแกรมกำจัดพยาธิทั้งภายในและภายนอก ช่วยดูแลช่องปากให้พวกเขาสะอาดอยู่เสมอด้วยนะครับ  

Pinterest

.
นอกจากดูแลน้องหมาน้องแมวแล้วผู้เลี้ยงเองต้องเอาใจใส่ดูแลตัวเองให้ถูกสุขลักษณะด้วย ดูแลร่างกายให้แข็งแรง เลือกทานอาหารที่สะอาดปลอดภัย ภาชนะต่างๆ ต้องทำความสะอาดให้ดีและแยกภาชนะสำหรับคนและสัตว์ ทำความสะอาดที่อยู่อาศัยให้สะอาดเสมอ ทำความสะอาดร่างกายให้สะอาดหลังจากที่สัมผัสน้องหมาน้องแมว หมั่นตรวจเช็คสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปี เพียงเท่านี้ร่างกายเราก็ห่างใกล้จากความเสี่ยงของโรคติดต่อจากน้องหมาน้องแมวแล้วครับ
.

.

.

 

.
ช่วยกดไลก์ กดแชร์ เป็นกำลังใจให้ Dog’s Clip ด้วยนะครับ
หากมีประสบการณ์ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจของเหล่าเพื่อนสัตว์
อย่าลืมส่งมาแบ่งปันด็อกคลิปนะครับ เรื่องราวของคุณอาจสร้างแรงบันดาลใจ
หรือช่วยให้เหล่าเพื่อนสัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
กดเพื่อเข้าร่วมกลุ่มด็อกคลิป , กดเพื่อส่งเรื่องราวของคุณ หรือติดแฮชแท็ก #dogsclip 

..................................................................
บทความโดย dogsclip.com

“บทความถูกรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยสำนวนของด็อกคลิป บทความมีลิขสิทธิ์ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก และ หรือ ดัดแปลงนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อสร้างรายได้ก่อนได้รับอนุญาต”

.

.