ผู้ดูแลสวนสัตว์ในสหรัฐฯ เพิ่งค้นพบว่าใบหน้าของ “แทสเมเนียนเดวิล” สามารถเรืองแสงได้ในความมืด

...กำลังโหลดข้อมูล...

.

.

.

เมื่อพูดถึงแทสเมเนียนเดวิล ภาพแรกที่แว๊บขึ้นมาในหัวของใครหลายๆ คนคงจะเป็นตัวการ์ตูนชื่อดังที่สามารถหมุนตัวได้เหมือนกับพายุทอร์นาโด ทว่าในความเป็นจริงแล้วพวกเขาทำไม่ได้หรอกนะ แต่อย่างไรก็ตามแทสเมเนียนเดวิลก็เป็นสัตว์ที่น่าสนใจมากชนิดหนึ่งเลยล่ะ ล่าสุด! เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสวนแห่งหนึ่งสัตว์ในสหรัฐฯ เพิ่งได้ค้นพบว่าพวกเขามีพลังวิเศษ! ใบหน้าของพวกเขาสามารถเรืองแสงได้ในที่มืด

Wikipedia

แทสเมเนียนเดวิลในการ์ตูนที่เราคุ้นเคย

.

The Toledo Zoo

นี่คือแสงสีที่เรืองแสงจากใบหน้าของแทสเมเนียนเดวิลในสวนสัตว์
.

เมื่อวันที่ 5 ธันวามคม 2563 ที่ผ่านมา “จาคอป ชวอน” (Jacob Schoen) เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสวนสัตว์โตเลโด ในเมืองโตเลโด รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเพิ่งได้ค้นพบความลับของแทสเมเนียนเดวิลตัวหนึ่งในสวนสัตว์ที่ดูแลอยู่และความลับนั้นก็อยู่บนใบหน้าส่วนที่เปิดเผยที่สุดของพวกเขานั่นเอง มันน่าทึ่งมากเมื่อใบหน้าของแทสเมเนียนเดวิลสามารถเรืองแสงได้ในที่มืด แน่นอนว่าจาคอปไม่พลาดที่จะบันทึกภาพชวนให้หลายๆ คนฉงนเกิดสงสัยเอาไว้ด้วย ก่อนจะนำมาเผยแพร่ลงบนหน้าเฟซบุ๊กแฟนเพจของสวนสัตว์พร้อมได้อธิบายเกี่ยวกับกระบวนการเกิดปรากฎการณ์ที่ทำให้มนุษย์เราสามารถมองเห็นแสงสีสวยงามบนใบหน้าของแทสเมเนียนเดวิลว่า...

The Toledo Zoo

.

“ ไบโอฟลูออเรสเซนต์ (Biofluorescence) เป็นปรากฏการณ์ที่สิ่งมีชีวิตดูดซับแสงสีหนึ่งจากธรรมชาติและส่งคืนแสงออกมาเป็นแสงสีอื่น ในกรณีของแทสเมเนียนเดวิลตัวนี้ผิวหนังรอบๆ จมูก ดวงตาและบริเวณใบหูชั้นในจะดูดซับแสงอัลตราไวโอเลตเอาไว้ (แสงชนิดหนึ่งที่มีอยู่มากตามธรรมชาติแต่มนุษย์อย่างเราไม่สามารถมองเห็นได้) และส่งคืนแสงเหล่านั้นออกมาเป็นแสงสีฟ้าที่มนุษย์อย่างเราสามารถมองเห็นได้ หรือ อาจจะเรียกง่ายๆ ว่าการเรืองแสง”

.

The Toledo Zoo

.

จาคอปยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ไบโอฟลูออเรสเซนต์สามารถเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ที่มาจากเขตพื้นที่ประเทศออสเตรเลียได้ด้วย เช่น วอมแบตและตุ่นปากเป็ด นอกจากนั้นแล้วสัตว์บางชนิดที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศสหรัฐอเมริกาก็อาจจะสามารถเรืองแสงได้เช่นกัน เช่น กระรอกบินใต้ และ โอพอสซัมเวอร์จิเนีย

Mammalia

การเรืองแสงของตุ่นปากเป็ด

.

Western Australian Museum

การเรืองแสงของวอมแบต

.

แทสเมเนียนเดวิลอาจจะเรืองแสงขณะที่พวกเขาอาศัยอยู่ในสวนสัตว์ แต่ทว่าสำหรับแทสเมเนียนเดวิลที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติในป่าอาจจะไม่เรืองแสงก็ได้ เนื่องจากพวกเขาเป็นสัตว์ที่หากินในช่วงเวลากลางคืน ดังนั้นตลอดช่วงกลางวันแทสเมเนียนเดวิลจะนอนหลับอยู่ในโพรงทำให้บริเวณใบหน้าของพวกเขาไม่ได้ดูดซับแสงอัลตราไวโอเลตเอาไว้มากพอที่จะสามารถเรืองแสงได้เมื่อถึงช่วงเวลากลางคืน

.

“ลีโอ สมิธ” (Leo Smith) นักชีววิทยาของมหาวิทยาลัยแคนซัส ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไบโอฟลูออเรสเซนต์ กล่าวว่า ยังไม่มีคำอธิบายอย่างแน่ชัดว่าอะไรกันแน่ที่ส่งผลทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดสามารถเรืองแสงได้ เนื่องจากจากข้อมูลและการสำรวจเท่าที่มีพบว่า ส่วนใหญ่มีเพียงปะการัง พืช และแมลงบางชนิดเท่านั้นที่สามารถเรืองแสงได้ ปัจจุบันลีโอพร้อมกับทีมวิจัยของเขากำลังพยายามศึกษาและอยู่ในขั้นตอนการนำโมเลกุลเล็กๆ ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบว่ามีปรากฎการณ์ที่น่าฉงนนี้มารวบรวมเพื่อศึกษาเพิ่มเติมและหวังว่าจะทำให้พวกเขาได้พบกับสาเหตุที่ทำให้สัตว์เหล่านั้นเรืองแสงหรือองค์ความรู้ใหม่อื่นใดที่มนุษย์เรายังไม่ค้นพบ

KU Biodiversity Institute & Natural History Museum

ลีโอ สมิธ

.

เกร็ดความรู้เก็บมาฝาก

แทสเมเนียนเดวิล เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีกระเป๋าหน้าท้อง อาศัยอยู่เฉพาะในรัฐแทสเมเนียซึ่งเป็นเกาะของประเทศออสเตรเลีย พวกเขาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1941 มีการสันนิษฐานว่า แทสเมเนียเดวิลได้สูญพันธุ์ไปจากแผ่นดินใหญ่ของออสเตรเลียเมื่อช่วงประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว

BBC.com

.

แทสเมเนียนเดวิลมีขนาดใกล้เคียงกับน้องหมาตัวเล็กๆ เป็นสัตว์ที่มีนิสัยดุร้าย และถือว่าเป็นสัตว์ที่มีกรามขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับขนาดตัว

Global Wildlife Conservation

.

แทสมาเนียนเดวิลตัวเมียสามารถมีลูกในกระเป๋าหน้าท้องได้สูงสุดถึง 6 ตัว ในระยะเวลานาน 3 เดือน ซึ่งถือว่ามีจำนวนเยอะมาก แต่ทว่าในปัจจุบันแทสเมเนียนเดวิลกลับถูกพบว่ากำลังอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งสาเหตุเกิดจากโรคระบาดที่ทำให้เกิดการติดเชื้อและเป็นเนื้องอกคล้ายมะเร็งบริเวณใบหน้า (Devil facial tumour disease - DFTD) นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 ประชากรของพวกเขาจึงลดลงอย่างรวดเร็ว นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าหากไม่สามารถคิดค้นหาวิธีรักษาโรคระบาดดังกล่าวได้ แทสเมเนียนเดวิลจะสูญพันธุ์ภายในปี ค.ศ. 2035 หรือ อีก 14 ปีข้างหน้า

.
ความแตกต่างของการเรืองแสงของหิ่งห้อยและปะการัง ?
- การเรืองแสงของหิ่งห้อยเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีภายในร่างกายของหิ่งห้อย จึงเรียกว่า "Bioluminescence (ไบโอลูมิเนสเซนต์)" หรือ "Living light" 
- การเรืองแสงของปะการัง ไม่ได้เกิดจากการเปล่งแสงของปะการัง แต่เกิดจากแสงที่มาตกกระทบ แล้วถูกดูดกลืนไว้ส่วนหนึ่ง สำหรับแสงส่วนที่ไม่ถูกดูดกลืนไว้ จะถูกปล่อยออกมา และแสงที่ถูกปล่อยออกมาจึงเป็นแสงสีที่ตามนุษย์เรามองเห็นได้ การเรืองแสงแบบนี้ เรียกว่า "Biofluorescence (ไบโอฟลูออเรสเซนต์)"

.

.

 

.
ช่วยกดไลก์ กดแชร์ เป็นกำลังใจให้ Dog’s Clip ด้วยนะครับ
หากมีประสบการณ์ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจของเหล่าเพื่อนสัตว์
อย่าลืมส่งมาแบ่งปันด็อกคลิปนะครับ เรื่องราวของคุณอาจสร้างแรงบันดาลใจ
หรือช่วยให้เหล่าเพื่อนสัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
กดเพื่อเข้าร่วมกลุ่มด็อกคลิป , กดเพื่อส่งเรื่องราวของคุณ หรือติดแฮชแท็ก #dogsclip 

..................................................................
บทความโดย dogsclip.com

“บทความถูกรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยสำนวนของด็อกคลิป บทความมีลิขสิทธิ์ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก และ หรือ ดัดแปลงนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อสร้างรายได้ก่อนได้รับอนุญาต”

.

.