“Save Ralph” ชอร์ตแอนิเมชันสะเทือนอารมณ์! ที่สร้างขึ้นเพื่อต่อต้านการทดสอบเครื่องสำอางกับสัตว์

...กำลังโหลดข้อมูล...

.

.

.

ผู้สร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูดและดาราฮอลีวูดร่วมมือกับองค์กรช่วยเหลือและต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ Humane Society International (HSI) ในสหรัฐอเมริกาเพื่อสร้าง “Save Ralph” ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องสั้น หรือ ชอร์ตแอนิเมชันที่ทรงพลังเพื่อต่อต้านการทดสอบเครื่องสำอางกับสัตว์

.

โดยแอนิเมชันเรื่องนี้จะมีตัวละครหลักเพื่อดำเนินเรื่องชื่อ “ราล์ฟ” (Ralph) กระต่ายขนปุยสีขาวที่ร่าเริงและมองโลกในแง่ดีมีงานประจำเป็น "สัตว์ทดลอง" ในห้องปฏิบัติการพิษวิทยา ณ โรงงานผลิตเครื่องสำอางแห่งหนึ่ง ซึ่งให้เสียงพากษ์โดย “ไทกา ไวทีที” ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง "ธอร์แร็กนาร็อค" ในจักรวาลมาร์เวล พร้อมกับดาราฮอลีวูดอีกหลายคนร่วมพากษ์เสียงตัวละครอื่น ๆ ในเรื่องด้วย
.
นอกจากนั้นแล้วยังมีบุคคลคุณภาพอย่าง "สเปนเซอร์ ซัสเซอร์" ผู้เขียนบทและผู้กำกับจาก Hesher และ The Greatest Showman และผู้อำนวยการสร้าง "เจฟฟ์ เวสปาร์" จาก Voice of Parkland ร่วมมือกับสตูดิโอ "Arch Model" เพื่อรังสรรค์แสง สีและชีวิตให้กับกระต่ายราล์ฟ

The Humane Society of the United States

.

“Save Ralph” จะทำให้ผู้รับชมได้เห็นการสัมภาษณ์ชีวิตของราล์ฟกระต่ายน้อยขนปุยที่น่ารักและอารมณ์ดี พร้อมกับได้ติดตามชีวิตการทำงานในแต่ละวันของเขาที่จะเผยทุกกิจกรรมที่ราล์ฟต้องพบเจออย่างเลือกไม่ได้ ผ่านการเล่าเรื่องที่เข้าใจง่ายและวิธีการสร้างภาพแอนนิเมชันด้วยเทคนิคสต็อปโมชันที่น่าสนใจ มีการออกแบบจัดองค์ประกอบภาพ แสง สีและเสียงที่ไม่ชวนให้รู้สึกหดหู่มากจนเกินไป ยังคงสีสันที่ดูสดใสเข้าถึงง่ายชวนติดตาม อย่างไรก็ตามทีเด็ดอีกอย่างดูเหมือนจะเป็นบทสนทนาระหว่างตัวละครที่มีไม่มากนักแต่กลับสามารถดึงผู้รับชมเข้าไปมีส่วนร่วมเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว ก่อนที่ตัวละครจะสาดประโยคง่าย ๆ ที่ทำให้ผู้รับชมถึงกับสะเทือนอารมณ์หลังจากที่ได้ฟัง แล้วได้ฉุกคิดประเด็นสำคัญที่ผู้จัดสร้างพยายามจะสื่อสารเพื่อรณรงค์ได้อย่างแนบเนียน
.
ในช่วงท้ายของ “Save Ralph” ผู้รับชมจะได้เห็นสภาพร่างกายของราล์ฟที่กำลังย่ำแย่เหนื่อยล้าและอ่อนกำลังจากการถูกทดลองในห้องปฏิบัติการพิษวิทยา กระต่ายขนปุยที่เคยร่าเริงเริ่มป่วยไม่สดใสอย่างช่วงเริ่มเรื่อง ดวงตาของเขาแดงและแผ่นหลังก็กำลังได้รับบาดเจ็บ แต่ราล์ฟยังคงมีแรงและไม่ตาย ดังนั้นในวันรุ่งขึ้นเขาก็คงต้องไปทำงานต่อโดยไม่มีทางเลือก...

The Humane Society of the United States

.

The Humane Society of the United States

.

“ฉันแค่อยากจะบอกกับทุกคนว่าสัตว์ทุกตัวในห้องปฏิบัติการยังคงถูกทดสอบกับเครื่องสำอางสารพัดชนิดไม่ว่าจะเป็น อายไลเนอร์, แชมพู, ครีมกันแดด หรือเกือบทุกอย่างที่อยู่ภายในห้องน้ำของคุณ ถ้าไม่มีประเทศที่อนุญาตให้ทดสอบเครื่องสำอางกับสัตว์ ฉันก็คงจะต้องตกงาน แต่ฉันจะได้ออกไปข้างนอก ข้างนอกที่ไม่ใช่ตามท้องถนน แต่เป็นทุ่งหญ้าและฉันก็คงจะได้ใช้ชีวิตอย่างเช่นกระต่ายตัวอื่น ๆ ที่อยู่ตามธรรมชาติ”

ราล์ฟกล่าวไว้ในช่วงท้าย

.

The Humane Society of the United States

.

โฆษกของ HSI ได้กล่าวในงานแถลงข่าวว่า

“การทดสอบเครื่องสำอางกับสัตว์ยังคงมีอยู่และเกิดขึ้นในทุก ๆ วัน เราใช้เรื่องราวของกระต่ายตัวหนึ่งเพื่อเป็นกระบอกเสียงอธิบายบอกผู้คนทั่วโลกให้รู้ว่ายังมีกระต่ายอีกจำนวนนับไม่ถ้วนและสัตว์อื่น ๆ อีกจำนวนมากที่ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกันในห้องปฏิบัติการทั่วโลก”

.

The Humane Society of the United States

.

ซึ่งภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องสั้น “Save Ralph” ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 เมษายน 2564 ที่ผ่านมาในหลายภาษา เช่น โปรตุเกส, สเปน, ผรั่งเศส และจะมีเวอร์ชันคำบรรยายภาษาอื่นในภูมิภาคเอเชียด้วย 
.
อย่างไรก็ตาม HSI ยืนหยัดเพื่อสนับสนุนการรณรงค์ต่อต้านนี้ เช่นที่เคยเกิดขึ้นในยุโรปมาแล้วเมื่อผู้มีอำนาจได้พยายามอุดช่องโหว่ทางกฎหมายด้วยการเรียกร้องให้มีการทดสอบส่วนผสมเครื่องสำอางในสัตว์ให้อยู่ภายใต้กฎหมายเคมี

The Humane Society of the United States

.

“เจฟฟรีย์ ฟล็อกเกน” ประธาน HSI กล่าวว่า

“แอนิเมชัน Save Ralph จะปลุกให้ผู้คนหันมาสนใจและตระหนักถึงชีวิตของสัตว์จำนวนมากที่ต้องทนทุกข์ทรมานในกระบวนการผลิตเครื่องสำอาง ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ทั่วโลกจะหันมาให้ความสำคัญและห้ามไม่ให้มีการทดสอบเครื่องสำอางกับสัตว์”

.

“ในวันนี้เรามีวิธีอื่น ๆ อีกมากมายที่จะทดสอบเพื่อรับรองความปลอดภัยของเครื่องสำอางโดยที่ไม่ต้องทรมานสัตว์ ดังนั้นจึงไม่มีข้ออ้างอื่นใดอีกต่อไปเพื่อจะให้สัตว์จำนวนมากมาทรมานเพื่อมนุษย์เรา”

เจฟฟรีย์กล่าวเสริม

.
"ทรอย เซเดิล" รองประธานด้านการการวิจัยและพิษวิทยา องค์กร HSI กล่าวว่า...

“มันคงง่ายเกินไปที่จะพูดว่าบริษัทที่ยังทำการทดลองกับสัตว์คือต้นตอของปัญหา แต่ความจริงบริษัทเหล่านั้นกลับเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้วยเช่นกัน ก่อนอื่นเราต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมาย และตอนนี้เรากำลังทำงานร่วมกับผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางอย่าง Lush, Unilever, P&G, L’Oréal และ Avon เพื่อรณรงค์ต่อต้านการทดลองกับสัตว์ ในตลาดเครื่องสำอางที่ทรงอิทธิพลระดับโลกอีกหลายแห่ง โดยมีเจ้ากระต่ายราล์ฟ เป็นกระบอกเสียง เพื่อช่วยพวกเราผลักดันกฎหมายนี้ให้สำเร็จ”

The Humane Society of the United States

.
สเปนเซอร์ ซัสเซอร์ ผู้กำกับของเรื่องกล่าวว่า...

“สัตว์ทดลองพวกเขาไม่มีทางเลือก ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของมนุษย์เราที่จะต้องทำอะไรสักอย่าง หากคุณได้รู้ความจริงแล้วว่าสัตว์ทดลองถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย คุณทนดูไม่ได้แน่ ๆ สิ่งที่ผมตั้งใจไว้คือให้แอนิเมชันเรื่องนี้ช่วยให้เราได้ส่งต่อความจริงในรูปแบบที่ไม่หนักเกินไป ผมหวังว่าคนดูจะตกหลุมรักราล์ฟ และอยากร่วมมือกันสู้เพื่อราล์ฟ และสัตว์อื่น ๆ ที่เผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกัน และเราต้องช่วยกันยุติการทดลองกับสัตว์แบบถาวร”
.
ขณะที่ "แม็คกี้ คิว" หรือ "หลี่ เหม่ยฉี" จากภาพยนตร์เรื่องดังอย่าง “มิชชั่นอิมพอสซิเบิ้ล 3”  ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับ HSI ว่า...

“ฉันเชื่อในความเป็นมนุษย์, ฉันรู้สึกว่าถ้าพวกเขารับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับความทรมานของสัตว์ทดลองเพื่อความสวยงาม พวกเขาจะมีความต้องการแตกต่างไปจากเดิมแน่ ๆ การทดสอบเครื่องสำอางในสัตว์ยังเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายในหลายพื้นที่ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉันขอแนะนำให้ผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้คิดทบทวนก่อนที่จะจ่ายเงินซื้อ สำหรับฉันแล้วฉันไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตที่โหดร้ายให้ได้มาซึ่งความงามและฉันคิดว่าคุณก็คงคิดแบบเดียวกัน มาสิมาร่วมกันช่วยเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้”
.

ในขณะเดียวกัน “อาดูเอน โจเซฟ อัลอันทารา” ผู้จัดการ HSI ประจำอาเซียนก็ได้ระบุว่า ผู้บริโภคเครื่องสำอางได้หันมาให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้กันมากขึ้นและสนับสนุนแคมเปญของ HIS โดยอ้างอิงจากการสำรวจความคิดเห็นที่ดำเนินการโดยบริษัทวิจัยตลาดชื่อดังอย่าง "Ipsos" เมื่อปี 2562 ซึ่งพวกเขาพบว่า 92% ของประชากรในฟิลิปปินส์เห็นด้วยกับการสั่งห้ามทดสอบเครื่องสำอางกับสัตว์ และ 87% ของพลเมืองทั่วภูมิภาคอาเซียนก็เห็นด้วยเช่นกัน
.

The Humane Society of the United States

.

“Save Ralph มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้เห็นถึงความทุกข์ทรมานอันเลวร้ายที่สัตว์ต้องทนอยู่ในห้องทดลอง เพราะไม่มีสัตว์ตัวไหนหรอกนะที่จะต้องทนทุกข์ทรมานและตายในนามของความสวยงาม”

อาดูเอนกล่าว

.

ปัจจุบันมีประเทศที่สั่งห้ามทดลองเครื่องสำอางในสัตว์แล้วกว่า 40 ประเทศ โดย HSI และพันธมิตรเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการผลักดันการรณรงค์ต่อต้าน แต่ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยที่ยังคงมีการผลิตเครื่องสำอางโดยทดลองกับสัตว์อยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นภารกิจของ HSI ยังคงจะดำเนินกิจกรรมต่อไปเพื่อช่วยเหลือสัตว์ทดลองอีกนับไม่ถ้วน
.
มีแบรนด์เครื่องสำอางกว่า 2,197 แบรนด์ทั่วโลก (ข้อมูลอัปเดตเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564 ) ที่ไม่มีการทดลองกับสัตว์ และได้ชื่อเป็นเครื่องสำอางที่ปราศจากความโหดร้าย (Cruelty-free)
.
ตอนนี้ยังไม่มีคู่มือการแนะนำการซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกออกมา ดังนั้น HSI ได้แนะนำเว็บไซต์ "LeapingBunny.org" เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้กับผู้บริโภคตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เหล่านั้นได้ผ่านการทดสอบกับสัตว์หรือไม่
.
ชาวด็อกคลิปสามารถรับชมภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องสั้น “Save Ralph” ได้จากด้านล่างนี้... หวังว่าเรื่องราวของราล์ฟจะทำให้รู้สึกเห็นใจเพื่อนสัตว์ตัวน้อยในห้องปฏิบัติการและหันมาดูแลพวกเขามากขึ้น ถ้าช่วยพวกเขาได้คุณจะช่วยไหม ? 
.

.
เกร็ดความรู้เก็บมาฝาก
>>> สวนผสมและสูตรต่าง ๆ ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจำเป็นต้องทดสอบความเป็นพิษต่อผิวหนังในกระบวนการ Animal Testing หรือ การทดลองกับสัตว์ซึ่งการทดสอบมีทั้งหมด 4 อย่าง ประกอบด้วย
.
Skin Irritation Test : การทดสอบการระคายเคืองต่อผิว
Phototoxicity Test : การทดสอบความเป็นพิษเมื่อเจอแสง
Ocular Irritation Test : การทดสอบการระคายเคืองต่อดวงตา
Transdermal Permeability Test : การทดสอบความสามารถในการซึมซาบเข้าสู่ผิวหนัง
.
สัตว์ทดลองมีผิวหนังและการตอบรับกับสารเคมีต่างกัน การทดลองจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะไม่ทำให้สัตว์ทดลองบาดเจ็บ
.
ในปัจจุบันบริษัทเครื่องสำอางหลายแห่งต้องการยุติการทารุณกรรมสัตว์ และหันมาทดสอบเครื่องสำอางด้วยวิธีการอื่น ๆ แทน เช่น การเพาะเนื้อเยื่อโปรตีนมาใช้เพื่อเป็นตัวทดสอบปฏิกริยาทางเคมีและใช้เทคโนโลยีด้านจุลชีววิทยาสำหรับการทดสอบวัตถุดิบก่อนนำไปผลิต
.
นอกจากนั้นแล้วยังมีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโปรตีน “อายเท็กช์” ที่จะนำมาใช้ทดสอบการระคายเคืองนัยน์ตาของมนุษย์สำหรับเครื่องสำอางที่ต้องนำไปใช้กับดวงตาแทนการทดลองกับสัตว์ด้วย

.
ทั้งนี้ยังมีทางเลือกอีกวิธีคือ การทดสอบในมนุษย์ที่เป็นอาสาสมัคร โดยมีโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยเวลล์ (University of wales) และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังคอยควบคุม ดูแลอย่างใกล้ชิด 
.
>>> อยากจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอางที่ไม่ทดลองกับสัตว์จะสังเกตได้อย่างไร?
ผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์เขียนว่า Cruelty Free, Leapping Bunny, No Animal Testing และ Vegan Product เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ "LeapingBunny.org" 
.
>>> Humane Society International (HSI) กำลังทำอะไรอยู่ รณรงค์โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงใช่หรือไม่?

ปัจจุบันจะมีหลักฐานงานวิจัยเพิ่มมากขึ้นแล้วว่าการทดลองในสัตว์ไม่ใช่ทางเลือกเดียวและถึงเวลาสำหรับการเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่กลับยังคงที่จะเลือกใช้วิธีเก่าที่ใช้กันมาหลายทศวรรษอย่างการ “ทดลองในสัตว์” เป็นอันดับแรก นั่นเป็นเพราะความเคยชินและความเชื่อแบบเก่าที่เปลี่ยนกันได้ยาก ทั่วโลกยังขาดความรู้และความเชี่ยวชาญในเทคนิคล้ำสมัยอย่างการทดลองที่ไม่ต้องใช้สัตว์
.
แต่ด้วยความช่วยเหลือจาก HSI การเปลี่ยนแปลงกำลังเริ่มต้นขึ้น เพราะ HSI เป็นผู้นำในการเชิญชวนให้นักวิทยาศาตร์ บริษัท หรือ หน่วยงานของรัฐจากทั่วทุกมุมโลกหันมาใช้วิธีสมัยใหม่ของศตวรรษที่ 21 ในการทดลองแทนที่จะทดลองกับสัตว์ งานของ HSI คือรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกเพื่อให้ความรู้ นำเสนอแนวทางปฏิบัติและวิจัยหาเทคโนโลยีอื่นที่จะนำมาแทนที่สัตว์ทดลอง

.
>>> อียูสั่งห้ามจำหน่ายเครื่องสำอางที่ทดสอบด้วยสัตว์มีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร
สำหรับ ปี 2552-2555 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิวไป อียู เฉลี่ยปีละ 4,575 ล้านบาท โดยในปี 2555 การส่งออกไป อียู เริ่มชะลอตัวลง ดังนั้นการที่สหภาพยุโรป (อียู) ออกกฎหมาย  EU Cosmetics Regulations เพื่อแก้ไขกฎหมายเครื่องสำอาง ห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผ่านการทดสอบด้วยสัตว์นี้ อาจมีส่วนส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และส่วนประกอบเครื่องสำอางของไทยที่มีการทดสอบด้วยสัตว์
.

.

.

 

.
ช่วยกดไลก์ กดแชร์ เป็นกำลังใจให้ Dog’s Clip ด้วยนะครับ
หากมีประสบการณ์ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจของเหล่าเพื่อนสัตว์
อย่าลืมส่งมาแบ่งปันด็อกคลิปนะครับ เรื่องราวของคุณอาจสร้างแรงบันดาลใจ
หรือช่วยให้เหล่าเพื่อนสัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
กดเพื่อเข้าร่วมกลุ่มด็อกคลิป , กดเพื่อส่งเรื่องราวของคุณ หรือติดแฮชแท็ก #dogsclip 

..................................................................
บทความโดย dogsclip.com

“บทความถูกรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยสำนวนของด็อกคลิป บทความมีลิขสิทธิ์ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก และ หรือ ดัดแปลงนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อสร้างรายได้ก่อนได้รับอนุญาต”

.

.