ปลากระเบนน้ำจืดขนาดยักษ์ได้รับความช่วยเหลือถูกส่งคืนแม่น้ำโขงโดยชาวประมงกัมพูชา

...กำลังโหลดข้อมูล...

.

.

.

ถ้าหากได้มีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยชีวิตเพื่อนสัตว์โลกที่ใกล้สูญพันธ์คุณจะรู้สึกอย่างไรครับ? ด็อกคลิปเชื่อว่าหลายคนคงจะรู้สึกอิ่มเอมและมีความสุขมากแน่ ๆ โดยเฉพาะคนรักสัตว์ ซึ่งความรู้สึกนี้ได้เกิดขึ้นแล้วกับชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่อาศัยในจังหวัดสตึงแตรง ประเทศกัมพูชา หลังจากที่พวกเขาได้ยื่นมือเข้าไปช่วยชีวิตปลากระเบนน้ำจืดขนาดยักษ์ก่อนจะพาเธอกลับคืนสู่แม่น้ำโขงมอบอิสรภาพในบ้านหลังใหญ่ที่จากมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา

.

ปลากระเบนน้ำจืดขนาดยักษ์ เพศเมีย ตัวดังกล่าวถูกจับโดยชาวประมงด้วยความไม่ได้ตั้งใจ เธอโชคร้ายเข้าไปติดในอวนระหว่างที่ออกหาปลาขนาดเล็กกินเป็นอาหาร อย่างไรก็ตามหลังจากที่ชาวประมงได้พบเธอติดอยู่ในอวนก็ไม่ละเลยตระหนักถึงคุณค่าชีวิตเพื่อนสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ก่อนจะเร่งเข้าไปช่วยเหลือและส่งเธอกลับสู่แม่น้ำโขงอีกครั้ง โดยหวังว่าสายน้ำแห่งชีวิตจะช่วยปกป้องปลากระเบนขนาดยักษ์ให้ยังคงรอดปลอดภัยและมีอายุยืนยาว กลับไปแพร่พันธุ์ช่วยรักษาระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์เคียงคู่แม่น้ำสายนี้ไปจนชั่วลูกชั่วหลาน 

MizzimaTV

.

AFP

.

ปลากระเบนน้ำจืดขนาดยักษ์จัดเป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ร่างกายของพวกเขาสามารถเติบโตขยายจนมีความยาวได้มากถึง 5 เมตร ลำตัวมีลักษณะแบนกว้าง สีเทาหรือสีน้ำตาล หางยาวคล้ายแส้ ปลากระเบนเหล่านี้ต่างจากปลาส่วนใหญ่ตรงที่พวกเขาหายใจผ่านรูเล็ก ๆ บนลำตัวและส่วนมากจะสามารถพบได้ในบริเวณอินโดนีเซีย กัมพูชา ไทยและมาเลเซีย

AFP

.

MizzimaTV

.

ถึงแม้ว่าจะมีขนาดตัวที่ใหญ่ยักษ์เท่ากับรถยนต์หนึ่งคัน แต่สัตว์น้ำเหล่านี้กลับกินเพียงแค่หอย ปูและปลาขนาดเล็กเป็นอาหารเท่านั้น พวกเขารักสงบไม่มีนิสัยก้าวร้าว ไม่ค่อยโจมตีมนุษย์เว้นเสียว่าจะถูกคุกคามก่อน ช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ชาวประมงน้ำจืดว่าปลากระเบนน้ำจืดขนาดยักษ์แข็งแรงมากจนสามารถลากเรือหาปลาได้เลย

MizzimaTV

.

ปลากระเบนน้ำจืดขนาดยักษ์ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกโดยนักชีววิทยาชาวดัตช์ชื่อ “ปีเตอร์ เบลเกอร์” (Pieter Bleeker) เมื่อปี พ.ศ.2395 ซึ่งนั่นก็นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานพอสมควร แต่ทว่านั่นกลับไม่ได้ทำให้มนุษย์มีข้อมูลเกี่ยวกับพวกเขามากขึ้นเท่าที่ควร เหตุผลหนึ่งก็ด้วยเพราะปลากระเบนน้ำจืดขนาดยักษ์มักจะอาศัยอยู่บริเวณก้นแม่น้ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการศึกษาของเหล่านักวิทยาศาสตร์

MizzimaTV

.

เมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการสำรวจพบว่าจำนวนประชากรปลากระเบนน้ำจืดขนาดยักษ์ได้ลดลงอย่างมาก เนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพวกเขาถูกรุกรานมากขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยิ่งเลวร้ายหนักลงไปอีกเมื่อแม่น้ำโขงบ้านหลังใหญ่ของเหล่าสัตว์น้ำจืดกำลังกลายเป็นแม่น้ำที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก จากรายงานการศึกษาโดยทีมนักวิจัยจาก Helmholtz Center for Environmental Research ประเทศเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ.2561 เผยว่า แม่น้ำโขงเป็น 1 ในแม่น้ำ 10 สายที่ปล่อยขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก โดยประมาณการณ์ว่าในแต่ละปีจะมีขยะพลาสติกที่ไม่ได้ถูกจัดการอย่างเหมาะสมไหลลงแม่น้ำโขงสู่ทะเลกว่า 33,431 ตัน

ภาพประกอบ / EcoWatch

.

mekongfishnetwork

ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงในแม่น้ำโขง

.
ขณะที่รายงานการศึกษาการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในปลาน้ำจืดบริเวณแม่น้ำชี ผศ.ดร.ภัททิรา เกษมศิริ และ ผศ.ดร.วิภาวี ไทเมืองพล จากคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of GEOMATE เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมายังได้เผยว่า มลพิษไมโครพลาสติกในลุ่มแม่น้ำโขงได้แทรกซึมปนเปื้อนเข้าสู่ระบบนิเวศ และห่วงโซ่อาหาร เรียบร้อยแล้ว
.

.

ชาวบ้านในจังหวัดสตึงแตรง ประเทศกัมพูชา ได้ตระหนักเห็นคุณค่าชีวิตสัตว์ใกล้สูญพันธุ์และดีใจที่ได้ร่วมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลโลกสีฟ้าบ้านหลังใหญ่ที่กำลังหล่อเลี้ยงทุกชีวิตบนโลก ขณะที่ข้อมูลการสำรวจจากนักวิทยาศาสตร์ต่างก็เน้นย้ำชัดว่าบ้านหลังใหญ่ของทุกชีวิตกำลังถูกทำลายโดยน้ำมือมนุษย์ ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ทุกคนจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา เพื่อลดการใช้พลาสติก หันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการขยะ เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่กำลังปล่อยลงสู่แม่น้ำโขง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป...
.

.

.

 

.
ช่วยกดไลก์ กดแชร์ เป็นกำลังใจให้ Dog’s Clip ด้วยนะครับ
หากมีประสบการณ์ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจของเหล่าเพื่อนสัตว์
อย่าลืมส่งมาแบ่งปันด็อกคลิปนะครับ เรื่องราวของคุณอาจสร้างแรงบันดาลใจ
หรือช่วยให้เหล่าเพื่อนสัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
กดเพื่อเข้าร่วมกลุ่มด็อกคลิป , กดเพื่อส่งเรื่องราวของคุณ หรือติดแฮชแท็ก #dogsclip 

..................................................................
บทความโดย dogsclip.com

“บทความถูกรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยสำนวนของด็อกคลิป บทความมีลิขสิทธิ์ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก และ หรือ ดัดแปลงนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อสร้างรายได้ก่อนได้รับอนุญาต”

.

.