ที่มาของ “วาฬหลังค่อมยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเล” นักวิจัยเผยพวกเขาคือผู้ปกป้องแมวน้ำจากวาฬเพชฌฆาต

...กำลังโหลดข้อมูล...

.

.

.

หลายคนคงจะพอทราบกันมาบ้างแล้วว่า "วาฬหลังค่อม" ได้รับสมญานาม "ยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเล" แต่ทว่าก็มีน้อยคนนักที่จะรู้ถึงที่มาของสมญานามนี้ วันนี้ด็อกคลิปจึงจะพาไปหาคำตอบของที่มาอันทรงเกียรตินี้กันครับ 

Tunisiesoir

.

ก่อนอื่นเรามารู้จักกับ "วาฬ" หรือที่หลายคนมักจะเรียกพวกเขาว่า "ปลาวาฬ" กันสักหน่อย... ความจริงแล้วพวกเขาแตกต่างจากปลานะครับ วาฬเป็นสัตว์เลือดอุ่น เลี้ยงลูกด้วยนม ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีลักษณะทางกายภาพหลายอย่างเหมือนปลา แต่หางของวาฬจะเป็นไปในลักษณะแนวนอนแตกต่างจากปลาทั่วๆ ไปครับ อีกทั้งวาฬยังหายใจโดยใช้ปอดและสามารถดำน้ำได้นานมากถึง 20 นาทีจากค่าเฉลี่ยของวาฬทุกชนิด วาฬมีปอดขนาดใหญ่ที่สามารถสะสมออกซิเจนจำนวนมากขณะที่โผล่ขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำ โดยพวกเขาจะใช้อวัยวะที่อยู่ส่วนหัวที่เรามักจะเห็นพวกเขาพ่นน้ำออกมา ตรงนั้นแหละครับ! ซึ่งอวัยวะที่ว่าจะมีลักษณะเป็นรูและมีกล้ามเนื้อพิเศษที่สามารถปิดรูให้สนิทเพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าไปในปอด อวัยวะนั้นจึงถือว่าเป็นจมูกของพวกเขา
.
"วาฬหลังค่อม" มีขนาดใหญ่ยักษ์และดูเหมือนว่าหัวใจของพวกเขาก็ใหญ่ตามขนาดตัวด้วยนะ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเหล่านักวิจัย หรือผู้ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของเหล่า "วาฬหลังค่อม" จากทั่วโลกได้พบข้อสังเกตที่ทำให้พวกเขากลายเป็น "ยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเล" น่ะสิครับ ซึ่งพฤติกรรมที่ว่านั่นคือ วาฬหลังค่อมมักจะเข้าไปช่วยชีวิตหล่าแมวน้ำตัวน้อยที่ถูกฝูงวาฬเพชฌฆาตไล่ล่าเป็นอาหารอยู่เสมอ โดยแมวน้ำผู้โชคร้ายเหล่านั้นมักจะถูกไล่ต้อนและล้อมด้วยฝูงวาฬเพชฌฆาต
.
ปกติแล้วแมวน้ำมีขนาดเล็กและค่อนข้างพลิ้วไหวเมื่ออยู่ใต้น้ำ วาฬเพชฌฆาตจึงต้องล่าแมวน้ำเป็นกลุ่ม แท็กทีมล้อมวงเพื่อไม่ให้แมวน้ำหลบหนีไปได้ แต่ทว่าเมื่อวาฬหลังค่อมซึ่งตัวใหญ่กว่าวาฬเพชฌฆาต พวกเขามักจะว่ายเข้ามาแทรกกลางระหว่างแมวน้ำและฝูงวาฬเพชฌฆาต ดึงความสนใจจากฝูงวาฬเพชฌฆาตทำให้แมวน้ำผู้โชคร้ายได้โอกาสหาจังหวะหลบหนีเอาตัวรอดไปได้ในที่สุด

Robert Pitman

.

Robert Pitman

.

จากการรายงานของเว็บไซต์ Live Science ระบุว่า เหล่านักชีววิทยาจากรอบโลกที่ทำการศึกษาเรื่องวาฬหลังค่อมอย่างจริงจัง พวกเขาก็มักจะพบพฤติกรรมในลักษณะเดียวกันนี้คือ วาฬหลังค่อมมักจะเข้ามาช่วยเหล่าแมวน้ำเอาไว้เสมอ ถ้าหากพบว่าแมวน้ำตกอยู่ในวงล้อมของฝูงวาฬเพชฌฆาต

Caters New Agency

.

ด้วยเหตุนี้เหล่านักชีววิทยาและนักวิจัยจึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า สาเหตุที่วาฬหลังค่อมมักจะเข้ามาช่วยแมวน้ำนั่นก็เป็นเพราะว่าพวกเขาได้ยินเสียงกรีดร้องด้วยความหวาดกลัวของเหล่าแมวน้ำ หรือ อาจมีแรงจูงใจอย่างอื่นที่ผลักดันให้วาฬหลังค่อมต้องแสดงพฤติกรรมแบบนั้น

Robert Pitman

.

“ลูซี่ บาเบย์” (Lucy Babey) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ประจำ ORCA องค์กรเพื่อปกป้องวาฬและโลมา ในน่านน้ำยุโรป กล่าวว่า

.

“เหตุการณ์ที่วาฬหลังค่อมเข้าไปช่วยปกป้องสัตว์ตัวอื่นๆ นั้นเกิดขึ้นแทบจะนับไม่ถ้วนเลยทีเดียว โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น สัตว์ที่กำลังถูกวาฬเพชฌฆาตไล่ล่า ก่อนหน้านี้ก็มีรายงานมาว่า พวกเขายังเคยปกป้องลูกวาฬสีเทาที่พลัดหลงจากแม่และเกือบถูกวาฬเพชฌฆาตรุมกัดกินให้รอดชีวิตอีกด้วย”

.

sparsholt

ลูซี่ บาเบย์

.

“ดร.โรเบิร์ต พิตแมน” (Dr.Robert Pitman) และ “จอห์น เดอร์แบน” (John Durban) สองนักชีววิทยาและนักวิจัยที่ Southwest Fisheries Science Center แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เขียนบทความลงในนิตยสาร Natural History magazine ว่า

.

“วาฬหลังค่อมนั้นมีสัญชาตญาณของความเป็นแม่สูงมาก ถึงแม้ว่าสัตว์ที่กำลังตกอยู่ในอันตรายจะไม่ใช่ลูกของพวกเขาจริงๆ พวกเขาก็ยังจะเข้าไปช่วยอยู่ดี”

.

Robert Pitman

ดร.โรเบิร์ต พิตแมน

.

ROBERT PITMAN/NOAA

.

วาฬหลังค่อมยังมีเทคนิคการช่วยเหลือที่ค่อนข้างแพรวพราว ทั้งการใช้ปะการังเป็นแนวป้องกัน การพาตัวเองไปยังโซนน้ำตื้น หรือ แม้กระทั่งการยกครีบขึ้นเหนือน้ำเพื่อหลบเลี่ยงการถูกโจมตีจากวาฬเพชฌฆาต

.

แต่ก็มีนักวิจัยพฤติกรรมวาฬบางส่วนออกมาแย้งข้อสันนิษฐานดังกล่าวว่า วาฬเพชฌฆาตกับวาฬหลังค่อมนั้นไม่ค่อยถูกกันอยู่แล้ว ดังนั้นหากมีโอกาสวาฬเพชฌฆาตก็จะไล่ล่าลูกของวาฬหลังค่อมเป็นอาหารเช่นกัน การขัดขวางการล่าจึงเป็นการขัดผลประโยชน์ของอีกฝ่ายโดยตรง อีกทั้งยังเป็นการข่มขวัญศัตรูได้อีกด้วย

.

ขณะที่ ดร.โรเบิร์ต ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แต่ถึงกระนั้นการล่าของเหล่าวาฬเพชฌฆาตนั้นก็ทรงประสิทธิภาพมากเช่นกัน จากการพบเห็นการล่ากว่า 22 ครั้ง พบว่ามี14 ครั้งเลยทีเดียวที่เหยื่อจะถูกสังหาร นับเป็นตัวเลขที่มากกว่าครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งนั่นก็แสดงให้เห็นว่าหากแมวน้ำไม่ได้รับความช่วยเหลือจากวาฬหลังค่อมพวกเขาก็คงรอดจากเงื้อมมือของวาฬเพชฌฆาตได้ยากทีเดียว

Getty Images

.
อย่างไรก็ตามเหล่านักอนุรักษ์ นักชีววิทยาและนักวิจัยจำนวนมากก็มีความเชื่อว่า "วาฬหลังค่อม" เป็นสัตว์แสนดี จากผลการรายงานหลายๆ ครั้งที่ได้พิสูจน์แล้วว่า พวกเขาได้นำพาตัวเองเข้าไปเสี่ยงหวังช่วยเหลือเหล่าสัตว์ตัวน้อยที่อ่อนแอกว่าที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากในวงล้อมนักล่าจริงๆ นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐานคำยืนยันพฤติกรรมแสนดีและที่มาของสมญานาม "ยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเล"
.

.

เกร็ดความรู้เก็บมาฝาก
วาฬหลังค่อม จัดเป็นวาฬขนาดใหญ่เป็นอันดับ 8 ของวาฬทั้งหมด น้ำหนักตัวอาจจะมากถึง 45 ตัน มีความยาวได้มากถึง 25 เมตร พบกระจายพันธุ์ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือราว 10,000 - 25,000 ตัว ในปี 2008 มีความโดดเด่นที่ครีบอกและหางที่ยาว โดยเฉพาะครีบอก อันเป็นที่มาของชื่อสกุล

Getty Images

.
วาฬหลังค่อมพบกระจายพันธุ์ในทะเลเปิดและมหาสมุทรทั่วโลก จะมีการอพยพย้ายถิ่นในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ซึ่งจะอพยพจากแหล่งอาหารใกล้ขั้วโลกมาสู่ทะเลเปิดในแถบใกล้เส้นศูนย์สูตรที่อุณหภูมิอบอุ่นกว่า เพื่อผสมพันธุ์และขยายพันธุ์ ลูกวาฬจะกำเนิดในช่วงนี้ รอจนกระทั่งอายุได้ 5 เดือนที่ลูกวาฬแข็งแรงพอแล้ว แม่วาฬจะพาลูกเดินทางกลับไปสู่ขั้วโลก สถานที่ที่มีแพลงก์ตอนจำนวนมากเป็นอาหาร โดยในระยะนี้แม่วาฬจะไม่กินอะไรเลยเป็นระยะเวลานานหลายเดือน ซึ่งจะใช้พลังงานจากไขมันที่เก็บสะสมไว้ก่อนหน้านี้ วาฬหลังค่อมเป็นวาฬที่ว่ายน้ำได้ช้า และไม่สามารถกลั้นหายใจได้นานเหมือนวาฬชนิดอื่นๆ โดยกลั้นหายใจได้เพียง 4-7 นาทีเท่านั้น และว่ายน้ำได้เร็วเพียง 14.5 กิโลเมตร / ชั่วโมง ในประเทศไทยไม่จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์ป่าสงวนแต่อย่างใด

.

.

.

 

.
ช่วยกดไลก์ กดแชร์ เป็นกำลังใจให้ Dog’s Clip ด้วยนะครับ
หากมีประสบการณ์ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจของเหล่าเพื่อนสัตว์
อย่าลืมส่งมาแบ่งปันด็อกคลิปนะครับ เรื่องราวของคุณอาจสร้างแรงบันดาลใจ
หรือช่วยให้เหล่าเพื่อนสัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
กดเพื่อเข้าร่วมกลุ่มด็อกคลิป , กดเพื่อส่งเรื่องราวของคุณ หรือติดแฮชแท็ก #dogsclip 

..................................................................
บทความโดย dogsclip.com

“บทความถูกรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยสำนวนของด็อกคลิป บทความมีลิขสิทธิ์ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก และ หรือ ดัดแปลงนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อสร้างรายได้ก่อนได้รับอนุญาต”

.

.