ต้นคริสต์มาสเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขในช่วงวันหยุดยาวส่งท้ายปี... แน่นอนว่าปัจจุบันมีต้นคริสต์มาสมากมายที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค หลายครอบครัวเลือกต้นคริสต์มาสประดิษฐ์ที่หาซื้อได้ง่าย สะดวกในการเคลื่อนย้ายและจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบบนชั้นวางสำหรับการนำกลับมาใช้ใหม่ในปีถัดๆ ไป ขณะที่ก็ยังมีอีกหลายครอบครัวที่ชื่นชอบต้นคริสต์มาสจากต้นสนจริงๆ มากกว่าเพราะได้ทั้งกลิ่น สัมผัสและความสวยงามเป็นธรรมชาติ ซึ่งสร้างสุนทรียภาพครบรสทำให้ช่วงเวลาพิเศษที่สุดของปีน่าจดจำสมบูรณ์แบบมากกว่า แต่ทว่าก็มีข้อเสียอยู่บ้างเพราะเมื่อเทศกาลสิ้นสุดลงต้นคริสต์มาสเหล่านั้นก็จะกลายเป็นขยะที่ต้องถูกนำไปทิ้ง ไม่เกิดประโยชน์อื่นใดต่อ...
.
แต่ทว่าในตอนนี้มีวิธีที่จะทำให้ต้นคริสต์มาสจากต้นสนจริงๆ ที่ต้องกลายเป็นขยะไร้ค่าเหล่านั้นเกิดประโยชน์ขึ้นมาแล้วล่ะ! เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2563 Lewis Adventure Farm and Zoo ฟาร์มและสวนสัตว์ในเมืองนิวเอรา รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกาได้โพสต์ข้อความลงบนหน้าเฟซบุ๊กแฟนเพจของพวกเขาเพื่อแจ้งข่าวกับชาวเมืองว่า "นำต้นคริสต์มาสที่คุณไม่ต้องการแล้วมาบริจาคให้กับสวนสัตว์ แทนการนำไปทิ้งโดยไม่สร้างประโยชน์จะดีกว่า"
.
โดยเจ้าหน้าที่ของฟาร์มและสวนสัตว์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เหล่าแพะในสวนสัตว์สามารถช่วยกำจัดต้นคริสต์มาสเหล่านั้นได้!
.
“เจนนี่ เฟอร์เรลส์” (Jenny Ferrels) เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธุ์ของ Lewis Adventure Farm and Zoo ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว FOX 17 ว่า แพะของพวกเขามักจะรู้สึกเหงามากในช่วงฤดูหนาว ดังนั้นสวนสัตว์จึงชอบที่จะให้เหล่าแพะได้มีของเล่นและของว่างรสชาติแปลกๆ ที่จะดึงดูดความสนใจทำให้พวกเขาได้รู้สึกน่าตื่นเต้นอยู่เสมอ ซึ่งที่ผ่านมาเธอได้พบว่าเหล่าแพะสนุกและชื่นชอบรสชาติของต้นคริสต์มาสจากต้นสนมาก นั่นจึงเป็นไอเดียในการเปิดรับบริจาค
เจนนี่ เฟอร์เรลส์
.
ไม่ใช่แค่เรื่องของความอร่อยเท่านั้น แต่ต้นสนคริสต์มาสยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพของเหล่าแพะอีกด้วย
.
“ในใบของต้นสนมีวิตามินซีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นหากแพะได้กินใบสนเหล่านั้นเข้าไป ร่างกายของพวกเขาก็จะได้รับวิตามินซีบางส่วนด้วย ซึ่งวิตามินซียังสามารถช่วยลดความอ้วนให้กับเหล่าแพะได้ด้วยนะ”
เจนนี่กล่าว
.
หากคุณบริจาคต้นสนคริสต์มาสให้กับเหล่าแพะแล้วละก็... คุณแน่ใจได้เลยว่าต้นสนคริสต์มาสของคุณจะเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยความสามารถเหนือชั้นของเหล่าแพะทำให้พวกเขาสามารถกินได้ทั้งใบ กิ่งเล็กๆ รวมถึงเปลือกของลำต้นสนได้ด้วย เรียกได้ว่าแทบจะทุกส่วนเหลือทิ้งเพียงน้อยนิดเท่านั้น
.
อย่างไรก็ตามไม่ต้องกังวลว่าจะมีต้นสนเยอะเกินไปจนเหล่าแพะกินกันไม่ไหวนะ เพราะเหล่าแพะสามารถสลับกินกับอาหารชนิดอื่นได้ รับรองไม่เบื่อแน่ นอกจากนั้นแล้วพวกเขายังมีเพื่อนเม่นที่ชื่นชอบกินใบสนไม่แพ้กันและยินดีร่วมมื้ออร่อย จัดการย่อยต้นสนกองยักษ์ลงท้องได้อย่างไม่มีปัญหาแน่นอน
.
เม่นอย่างเค้าก็ชอบใบสนเหมือนกันเด้อ!
.
ว่าแต่แถวบ้านมีฟาร์มแพะหรือสวนสัตว์บ้างไหมครับ? ถ้ามีอย่าลืมยกต้นคริสต์มาสไปให้เหล่าแพะด้วยนะ ถือว่าเป็นของขวัญต้อนรับปีใหม่ส่งต่อความสุขและเพื่อใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุดนะครับ เชื่อว่าเหล่าแพะคงจะดีใจมากๆ เลยล่ะที่ได้ลองเปลี่ยนอาหาร สัมผัสรสชาติวิตามินซีจากใบสนดูบ้าง แหม...ถือว่าเป็นการมอบมื้อสุขภาพแสนเก๋ให้กับเหล่าแพะต้อนรับปีใหม่เลยนะ
.
อย่าลืมล่ะ! ก่อนบริจาคต้นสนคริสต์มาสให้กับเหล่าแพะในฟาร์มหรือสวนสัตว์ใกล้บ้านควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนนะว่า ได้เอาพลาสติก ของประดับบนต้นคริสต์มาสออกหมดแล้ว โดยเฉพาะลวดและหิมะเทียม ทั้งหมดนี้จะช่วยทำให้กระเพาะน้อยๆ ของเหล่าแพะไม่ต้องมาเสี่ยงกับสารเคมี ขยะและของมีคม
.
“สตีเฟน เมอร์เรย์” (Stephen Murray) เจ้าหน้าที่ของ Pine Cobble Farm ฟาร์มแห่งหนึ่งในรัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งเป็นฟาร์มอีกแห่งหนึ่งที่เปิดรับบริจาคต้นสนคริสต์มาสให้กับเหล่าแพะด้วยเหมือนกัน เขาได้กล่าวว่า
“เหล่าแพะชอบกินต้นสนคริสต์มาสมากๆ พวกเขาวิ่งกรูกันเข้าไปกินต้นสนราวกับฝูงปลาปิรันยาที่กำลังหิวโหย”
.
.
ที่บ้านเราเขาจะรับไหมน้าาาา ติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ใกล้บ้านให้แน่ใจก่อนละกันจะได้ไม่เสียเที่ยวแบกไปฟรีๆ นะครับ
.
.
.
ช่วยกดไลก์ กดแชร์ เป็นกำลังใจให้ Dog’s Clip ด้วยนะครับ
หากมีประสบการณ์ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจของเหล่าเพื่อนสัตว์
อย่าลืมส่งมาแบ่งปันด็อกคลิปนะครับ เรื่องราวของคุณอาจสร้างแรงบันดาลใจ
หรือช่วยให้เหล่าเพื่อนสัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
กดเพื่อเข้าร่วมกลุ่มด็อกคลิป , กดเพื่อส่งเรื่องราวของคุณ หรือติดแฮชแท็ก #dogsclip
..................................................................
บทความโดย dogsclip.com
“บทความถูกรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยสำนวนของด็อกคลิป บทความมีลิขสิทธิ์ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก และ หรือ ดัดแปลงนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อสร้างรายได้ก่อนได้รับอนุญาต”
.
.