โขลงช้างป่าพเนจรในประเทศจีนตัดสินใจหยุดพักนอนหลับปุ๋ยระหว่างทาง หลังจากที่ร่วมเดินทางกันมาไกลกว่า 500 กิโลเมตรและใช้ระยะเวลานานกว่า 15 เดือน จากเขตป่าซึ่งเป็นถิ่นอาศัยในแคว้นปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนาถึงนครคุนหมิง มณฑลยูนนานในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ซึ่งการออกเดินทางไกลของโขลงช้างป่าซึ่งมีสมาชิกถึง 16 ตัวกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากประชาชนชาวจีนและคนรักสัตว์ทั่วโลก
.
.
ขณะที่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ประเทศจีนก็ได้จัดตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นเพื่อติดตามและดูแลโขลงช้างป่าดังกล่าวขึ้นตลอด 24 ชั่วโมงด้วย ซึ่งในทีมเฉพาะกิจจะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จำนวน 410 คน พร้อมยานพาหนะติดตามกว่า 374 คัน โดรนอีก 14 ลำและรถที่บรรทุกอาหารสำหรับช้างทั้งโขลงอีกกว่า 2 ตัน นอกจากการติดตามและคอยดูแลแล้ว การควบคุมช่วยให้โขลงช้างเดินอยู่ในเส้นทางที่ปลอดภัยออกห่างจากเขตพื้นที่ชุมชนก่อนจะพาพวกเขากลับบ้านในเขตป่าอุดมสมบูรณ์ที่จากมาอีกครั้งก็เป็นอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของภารกิจนี้ด้วย
.
.
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ภาพจากโดรนของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ได้แสดงให้เห็นว่า โขลงช้างป่าตัดสินใจหยุดพักระหว่างทางหลังจากที่ใช้เวลาเดินทางมานานกว่า 12 วัน พวกเขาล้มตัวลงนอนหลับกลางป่าเป็นครั้งแรก ขณะที่มีช้างป่า 3 - 4 ตัวคอยยืนเฝ้าระวังภัยให้
.
.
ช้างป่านอนเรียงราย พยายามเกาะกลุ่มอยู่ใกล้ ๆ กัน ขณะที่ลูกช้างตัวน้อยสมาชิกใหม่ได้นอนอยู่ในอ้อมกอดแม่ช้างและวงล้อมการปกป้องจากช้างป่ารุ่นใหญ่ พวกเขาเชื่อใจและอุ่นใจที่มีกันและกัน ภาพพฤติกรรมของโขลงช้างป่านอกจากจะน่ารักและน่าประทับใจแล้ว นี่ยังบ่งบอกว่าพวกเขามีระบบสังคมที่ซับซ้อน พวกเขาเลือกที่จะอยู่รวมกันและคอยช่วยเหลือดูแลกัน
.
.
.
ในตอนนี้เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้กำลังพยายามวิเคราะห์และทำความเข้าใจช้างป่าทั้ง 16 ตัวอยู่เพื่อหาเหตุผลมาอธิบายพฤติกรรมที่กำลังเป็นข้อสงสัยของจุดประสงค์ในการออกเดินทางจากบ้านในเขตป่าอนุรักษ์มณฑลยูนนานที่อุดมสมบูรณ์ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา
.
อย่างไรก็ตามการเดินทางแสนยาวไกลก็ได้หยุดลงชั่วคราวในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เมื่อโขลงช้างป่าได้เดินมาถึงเมืองผูเอ่อร์ เนื่องจากแม่ช้างตัวหนึ่งในโขลงได้ให้กำเนิดลูกช้างตัวน้อยของเธอ โขลงช้างป่าตัดสินใจที่จะอาศัยอยู่ที่นั่นชั่วคราวเพื่อดูแลลูกช้างตัวน้อยสมาชิกใหม่ลำดับที่ 17 ของโขลง
.
5 เดือนถัดมาลูกช้างก็เติบโตและมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้น โขลงช้างป่าจึงตัดสินใจยกขบวนออกเดินทางกันอีกครั้งในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564
.
.
.
ทว่าหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่โขลงช้างป่าเริ่มออกเดินทางอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ก็ได้พบว่าช้างป่าจำนวน 2 ตัวได้เดินแยกออกจากโขลงไปเพื่อเดินทางกลับบ้านที่จากมา นั่นทำให้โขลงช้างป่าเหลือสมาชิกเพียง 15 ตัวและพวกเขาก็ยังคงเดินมุ่งหน้าขึ้นเหนือต่อ...
.
ซึ่งล่าสุด! เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 สำนักข่าว CNN ประเทศสหรัฐอเมริกาได้รายงานว่าโขลงช้างป่าได้เบนเส้นทางเพื่อกลับบ้านที่พวกเขาจากมาแล้ว
.
.
การเดินทางของโขลงช้างป่าได้รับความสนใจจากผู้คนบนโลกออนไลน์ในประเทศจีนเป็นจำนวนมาก พวกเขาต่างเอาใจช่วยและภาวนาให้ช้างป่าได้พบเส้นทางกลับบ้านของพวกเขาอีกครั้ง ถึงแม้ว่าการปรากฎตัวในเขตชุมชนระหว่างการเดินทางที่ยังคงเป็นปริศนาจะสร้างความเสียหายให้กับประชาชนอย่างน้อย 6.8 ล้านหยวน หรือประมาณ 33 ล้านบาทก็ตาม...
.
.
เกร็ดความรู้เก็บมาฝาก
.
ช้างมีความสามารถในการรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ และเริ่มสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยั่งยืนกับสมาชิกในโขลง หรือ คนที่ใกล้ชิดได้ พวกเขาสามารถจดจำบุคคลหนึ่งได้นานและสามารถแสดงความโศกเศร้าต่อการจากไปของสมาชิกในโขลงได้
.
นอกจากนั้นแล้วช้างยังสามารถจำภาพสะท้อนของตัวเองได้อีกด้วย!
.
การจำตนเองในภาพสะท้อนนั้นหายากมากในบรรดาสัตว์ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพฤติกรรมหน้ากระจกของช้างเอเชียจำนวน 3 เชือกโดยความร่วมมือระหว่างทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอมอรีกับไวด์ไลฟ์ คอนเซอร์เวชัน โซไซตี้ (Wildlife Conservation Society) ก็ทำให้พบว่าช้างเชือกหนึ่งที่ยืนอยู่หน้ากระจกสามารถใช้งวงแตะเครื่องหมายกากบาทสีขาวบนหัวตัวเองแทนการยื่นงวงออกไปแตะกากบาทที่ปรากฎบนกระจกซึ่งเป็นภาพสะท้อนได้ และสามารถทำซ้ำ นี่เป็นบททดสอบการประเมินทักษะการจดจำตัวเองของเด็กและลิงไม่มีหางแต่ช้างสามารถทำได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากมากในสัตว์ แม้แต่กับเด็กเล็กก็ยังไม่มีทักษะนี้จนกว่าจะมีอายุเกือบ 2 ปี
.
.
การศึกษาดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นว่าช้างมีทักษะในการจดจำตัวเองในระดับเดียวกับสัตว์ที่มีชีวิตทางสังคมซับซ้อนและมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างมนุษย์ ลิงไม่มีหางและโลมาปากขวด การศึกษาดังกล่าวได้ถูกตีพิมพ์ในโปรซีดดิงส์ ออฟ เดอะ เนชันแนล อะคาเดมี ออฟ ไซนส์ (Proceedings of the National Academy of Sciences) ด้วย
.
.
.
.
ช่วยกดไลก์ กดแชร์ เป็นกำลังใจให้ Dog’s Clip ด้วยนะครับ
หากมีประสบการณ์ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจของเหล่าเพื่อนสัตว์
อย่าลืมส่งมาแบ่งปันด็อกคลิปนะครับ เรื่องราวของคุณอาจสร้างแรงบันดาลใจ
หรือช่วยให้เหล่าเพื่อนสัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
กดเพื่อเข้าร่วมกลุ่มด็อกคลิป , กดเพื่อส่งเรื่องราวของคุณ หรือติดแฮชแท็ก #dogsclip
..................................................................
บทความโดย dogsclip.com
“บทความถูกรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยสำนวนของด็อกคลิป บทความมีลิขสิทธิ์ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก และ หรือ ดัดแปลงนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อสร้างรายได้ก่อนได้รับอนุญาต”
.
.