นักวิทยาศาสตร์ทำสำเร็จในการโคลนนิ่ง “เฟอร์เร็ตเท้าดำ” จากเซลล์แช่แข็งนาน 30 ปี

...กำลังโหลดข้อมูล...

.

.

.

นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งเฟอร์เร็ตเท้าดำสัตว์สายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธ์ุให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยใช้เซลล์ที่เก็บรักษาเอาไว้จากเฟอร์เร็ตเท้าดำที่ตายไปเมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของการโคลนนิ่งสัตว์พื้นเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกาและโครงดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 3 ภาคส่วนซึ่งประกอบด้วย ViaGen Pets and Equine บริษัทเอกชนที่เปิดบริการรับโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยง, หน่วยบริการปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Fish and Wildlife Service) และสวนสัตว์ซาดิเอโก้โกลบอล (San Diego Zoo Globa)
 

U.S. Fish and Wildlife Service

.

เฟอร์เร็ตเท้าดำน้อย เพศเมีย ที่เกิดจากการโคลนนิ่งตัวนี้มีชื่อว่า “เอลิซาเบธ แอน” (Elizabeth Ann) เธอเกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมาในศูนย์อนุรักษ์เฟอร์เร็ตเท้าดำของหน่วยบริการปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐอเมริกา ในรัฐโคโลราโด
.

U.S. Fish and Wildlife Service

.

ชื่อของเอลิซาเบธไม่ได้ถูกตั้งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อใครหรือโดยใครคนหนึ่ง แต่เป็นชื่อที่อยู่ในรายการของศูนย์อนุรักษ์เฟอร์เร็ตเท้าดำที่รวบรวมไว้เพื่อตั้งชื่อให้กับเหล่าสัตว์ตัวน้อยที่เกิดใหม่ภายในศูนย์ฯ โดยเฉพาะ ปัจจุบันเอลิซาเบธมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงดี เธอได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและตรวจสุขภาพอยู่เป็นประจำโดยนักวิทยาศาสตร์

.

เอลิซาเบธถูกโคลนนิ่งขึ้นโดยใช้เซลล์ของเฟอร์เร็ตเท้าดำป่าที่ชื่อว่า “วิลล่า” (Willa) ซึ่งเธอได้เสียชีวิตลงเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2523 ในรัฐไวโอมิงและปัจจุบันก็ไม่มีลูกหลานของเธอหลงเหลืออยู่แล้ว เซลล์ของวิลล่าได้รับการเก็บรักษาในอุณภูมิต่ำติดลบที่ “โฟรเซนซู” (Frozen Zoo) ซึ่งเป็นโครงการของสวนสัตว์ซานดิเอโก้โกลบอล ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเก็บรักษาเซลล์ของเหล่าสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์กว่า 1,100 ชนิดทั่วโลก
.
เป้าหมายสำคัญในการโคลนนิ่งครั้งนี้นักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะผสมพันธุ์เอลิซาเบธก่อนที่จะนำลูก ๆ ของเธอปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมให้กับสายพันธุ์เฟอร์เร็ตเท้าดำที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน
.
การโคลนนิ่ง "เอลิซาเบธ" เฟอร์เร็ตเท้าดำใช้วิธีเดียวกับการโคลนนิ่งแกะ "ดอลลี่" แต่ทว่าความซับซ้อนกว่ามากเพราะการโคลนนิ่งเอลิซาเบธเป็นการถ่ายทอดพันธุกรรมข้ามสปีชีส์ เนื่องจากเซลล์ของวิลล่าถูกนำมาใส่ในไข่ของเฟอร์เร็ตบ้านที่เป็นสายพันธุ์ใกล้ชิดกับเฟอร์เร็ตเท้าดำ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับแม่พันธุ์เฟอร์เร็ตเท้าดำที่ใกล้สูญพันธุ์
.

U.S. Fish and Wildlife Service

.

“เราค่อนข้างรู้สึกตื่นเต้นมากเลยทีเดียว เมื่อได้เห็นเธอลืมตาดูโลก”

ชอน วอล์คเกอร์ (Shawn Walker) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ ViaGen Pets and Equine กล่าว

.

ความสำเร็จนี้ชี้ให้เห็นว่าการโคลนนิ่งสามารถเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ได้จริง ๆ นอกจากนี้ยังแสดงให้เราได้เห็นความสำคัญของการเก็บรักษาเซลล์ของเหล่าสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์เอาไว้อีกด้วย
.

U.S. Fish and Wildlife Service

.

ความก้าวหน้าในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการอนุรักษ์เฟอร์เร็ตเท้าดำซึ่งเป็นสัตว์ป่าพื้นเมืองในอเมริกาเหนือ ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวเคยถูกพบกระจายอยู่ในพื้นที่กว้างใหญ่ของอเมริกาตะวันตก แต่พวกเขากลับเริ่มลดจำนวนลงเรื่อย ๆ หลังจากที่เกษตรกรเริ่มหันมากำจัดแพร์รี่ด็อกสัตว์ซึ่งเป็นอาหารของเหล่าเฟอร์เร็ตเท้าดำ จนกระทั่งเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2513 เฟอร์เร็ตเท้าดำก็ลดจำนวนลงมากเข้าสู่ระดับวิกฤติและถูกตั้งข้อสันนิษฐานว่าได้สูญพันธุ์จากโลกไปแล้ว
.
แต่เมื่อปี พ.ศ. 2524 น้องหมาต้อนแกะในฟาร์มปศุสัตว์แห่งหนึ่งในรัฐไวโอมิง ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้พานักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ไปพบกับแหล่งที่อยู่อาศัยลับ ๆ ของเหล่าเฟอร์เร็ตเท้าดำมากถึง 18 ตัวในพื้นที่ที่รกร้างแห่งหนึ่ง ในตอนนั้นความหวังที่มนุษย์จะได้มีโอกาสยื่นมือเข้าไปช่วยปกป้องเผ่าพันธุ์ของเฟอร์เร็ตก็เกิดขึ้นอีกครั้ง

.

หลังจากการค้นพบ เฟอร์เร็ตเท้าดำจำนวน 7 ตัวก็ถูกส่งเข้าสู่โครงการเพาะพันธุ์ซึ่งริเริ่มขึ้นโดยหน่วยบริการปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐอเมริกา หลังจากได้รับการเพาะพันธุ์จนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ส่งตัวเฟอร์เร็ตเท้าดำกลับคืนสู่ธรรมชาติโดยกระจายไปยัง 8 รัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา

.

นับตั้งแต่โครงการเพาะพันธุ์เฟอร์เร็ตเท้าดำเริ่มต้นขึ้น ปัจจุบันประชากรของเฟอร์เร็ตเท้าดำก็ได้เพิ่มจำนวนมากเป็น 400 - 500 ตัวแล้ว
.
แต่ถึงจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน แต่นักวิทยาศาสตร์กลับพบว่าเหล่าเฟอร์เร็ตเท้าดำเหล่านั้นมีร่างกายไม่แข็งแรงนักเนื่องจากการผสมพันธุ์ระหว่างเฟอร์เร็ตเท้าดำที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดใกล้ชิดกันเกินไป จนเป็นเหตุให้พวกเขาต้องเผชิญกับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ นั่นคือการระบาดของ "โรคซิลวาติก" ซึ่งสาเหตุของการติดเชื้อมาจากเหล่าปริสิตอย่างหมัด และวิธีที่ดีสุดที่จะช่วยเหลือเผ่าพันธุ์เฟอร์เร็ตเท้าดำไว้ได้อีกครั้งก็คือการสร้างความหลากหลายทางพันธุกรรมให้กับเฟอร์เร็ตเท้าดำรุ่นใหม่
.
ดังนั้น "เอลิซาเบธ" เฟอร์เร็ตเท้าดำจากการโคลนนิ่งจึงเกิดขึ้นและลูก ๆ ของเธอก็คือความหวังที่จะช่วยสร้างความหลากหลายทางพันธุธรรมให้กับเหล่าเฟอร์เร็ตเท้าดำรุ่นใหม่ แน่นอนว่าพวกเขาจะมีร่างกายที่แข็งแรงและภูมิคุ้มกันต้านทานโรคดังกล่าวได้ดีขึ้นด้วย

U.S. Fish and Wildlife Service

.

เกร็ดความรู้เก็บมาฝาก

เฟอร์เร็ตพบได้ในทวีปยุโรป จากการตรวจสอบทางดีเอ็นเอพบว่าเฟอร์เร็ตถูกมนุษย์นำมาเลี้ยงดูมานานถึง 2,500 ปีแล้ว โดยในประวัติศาสตร์จะมีเฟอร์เร็ตปรากฏตามสถานที่ต่าง ๆ มากมาย เช่น ปรากฏในภาพวาดของลีโอนาร์โด ดา วินชี หรือสัตว์เลี้ยงข้างกายของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 แห่งจักรวรรดิอังกฤษ นอกจากนั้นแล้วพวกเขายังเคยเป็นผู้ช่วยสำคัญของเหล่าช่างงานวางสายเคเบิลเมื่อต้องถ่ายทอดพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าฟ้าชายชาลส์และเลดี้ไดอานา ในปี ค.ศ. 1981 ด้วย

.

เฟอร์เร็ตมีความยาวลำตัวประมาณ 51 เซนติเมตร และความยาวหาง 13 เซนติเมตร น้ำหนักตัวประมาณ 0.7–2 กิโลกรัม อายุขัยโดยเฉลี่ย 7-10 ปี และตัวผู้นั้นจะมีความยาวมากกว่าตัวเมีย

.

อาหารของเฟอร์เร็ตคือเนื้อสัตว์เท่านั้น ไม่ใช่ผลไม้ หากเฟอร์เร็ตกินผลไม้อาจจะทำให้เฟอร์เร็ตเสียชีวิตเนื่องจากอาหารไม่ย่อยหรือการป่วยเป็นโรคเบาหวานได้

.

.

.

 

.
ช่วยกดไลก์ กดแชร์ เป็นกำลังใจให้ Dog’s Clip ด้วยนะครับ
หากมีประสบการณ์ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจของเหล่าเพื่อนสัตว์
อย่าลืมส่งมาแบ่งปันด็อกคลิปนะครับ เรื่องราวของคุณอาจสร้างแรงบันดาลใจ
หรือช่วยให้เหล่าเพื่อนสัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
กดเพื่อเข้าร่วมกลุ่มด็อกคลิป , กดเพื่อส่งเรื่องราวของคุณ หรือติดแฮชแท็ก #dogsclip 

..................................................................
บทความโดย dogsclip.com

“บทความถูกรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยสำนวนของด็อกคลิป บทความมีลิขสิทธิ์ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก และ หรือ ดัดแปลงนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อสร้างรายได้ก่อนได้รับอนุญาต”

.

.