“เครสเซนต์” (Crescent) นกกกอินเดีย เพศเมีย อายุ 25 ปีได้รับการวินิจฉัยจากสัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์แทมปา รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกาว่ากำลังป่วยเป็นมะเร็งผิวหนังบริเวณใต้โหนกเหนือหัว แต่โชคดีที่เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติที่ทันสมัยช่วยให้เครสเซนต์รอดตายและกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติอีกครั้ง
.
.
เจ้าหน้าที่สวนสัตว์แทมปาระบุว่าได้สังเกตเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นที่บริเวณโหนกเหนือหัวของเครสเซนต์ หลังจากนั้น “ดร.เคนดรา เบคเกอร์” (Dr. Kendra Baker) สัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์แทมปาก็ได้เร่งตรวจร่างกายอย่างละเอียดให้กับเครสเซนต์ ก่อนจะพบว่าเธอกำลังป่วยเป็นมะเร็งผิวหนังชนิด Squamous Cell Carcinoma ที่บริเวณใต้โหนกเหนือหัว ซึ่งมะเร็งผิวหนังชนิดนี้มักจะพบได้ทั่วไปในมนุษย์และสัตว์
.
ความผิดปกติบริเวณโหนกที่เจ้าหน้าที่สังเกตเห็น
.
ดร.เคนดรา เบคเกอร์ ผู้ตรวจพบมะเร็งใต้โหนกของเครสเซนต์
.
ดร.เคนดราอธิบายว่า มะเร็งที่เครสเซนต์กำลังเผชิญอยู่อันตรายมากสามารถทำให้เธอเสียชีวิตได้ เนื่องจากมะเร็งอยู่ใกล้กับกะโหลกศีรษะของเธอมาก ดังนั้นเพื่อให้เครสเซนต์มีชีวิตรอด ดร.เคนดราจึงจำเป็นต้องผ่าตัดเปิดโหนกของเครสเซนต์ออกเพื่อกำจัดมะเร็งร้าย แต่ทว่าการรักษาจะทำให้โหนกของเครสเซนต์เป็นรูโหว่ตลอดชีวิตซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาอื่น ๆ ที่จะตามมาอีกมาก
.
เพื่อให้เครสเซนต์รอดจากมะเร็งและสามารถใช้ชีวิตต่อได้อย่างปกติสุขหลังจากการรักษาด้วยการผ่าตัด ดร.เคนดรา จำเป็นต้องวางแผนอย่างรัดกุมเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีวิธีที่ดีที่สุดในการศัลยกรรมตกแต่งปิดรูโหว่บนโหนกของเครสเซนต์ ซึ่งเธอได้ตัดสินใจติดต่อไปที่มหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดา เพื่อขอให้วิศวกรชีวการแพทย์ของมหาวิทยาลัยแนะนำและช่วยออกแบบอวัยวะ 3 มิติสำหรับปิดรูโหว่บนโหนกของเครสเซนต์
.
.
“โครงการช่วยชีวิตเครสเซนต์ เป็นการร่วมมือที่น่าทึ่งของทีมสัตวแพทย์ ทีมรังสีวิทยาและทีมวิศวกรชีวการแพทย์”
ดร.เคนดรากล่าว
.
หลังจากการออกแบบและจัดพิมพ์อวัยวะ 3 มิติสำเร็จ การผ่าตัดก็เริ่มขึ้น โดยครั้งแรกเป็นการผ่าตัดเปิดโหนกของเครสเซนต์เพื่อนำเนื้อร้ายออกมา จากนั้นอีกสองถึงสามสัปดาห์ถัดมาจึงทำการผ่าตัดเป็นครั้งที่สองเพื่อใส่อวัยวะ 3 มิติปิดรูโหว่บนโหนกของเครสเซนต์เข้าไป
.
.
.
โชคดีที่การผ่าตัดผ่านไปได้ด้วยดี เครสเซนต์ปลอดภัยไม่มีอาการแทรกซ้อนและดูเหมือนว่าเธอกำลังเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตร่วมกับอวัยวะชิ้นใหม่ ซึ่งเธอทำได้ดีมาก ดร.เคนดราให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าเครสเซนต์สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อีกครั้งอย่างไม่สะดุดราวกับว่าไม่มีการรักษาหรืออวัยวะชิ้นใหม่เพิ่มเข้ามาบนตัวของเธอ
.
.
“อวัยวะเทียมที่อยู่บนหัวของเครสเซนต์ ก่อนหน้านี้มีสีขาวล้วน แต่ในตอนนี้มันเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแล้ว เธอไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่ามีสิ่งผิดปกติอยู่บนโหนกของเธอ”
ดร.เคนดรากล่าว
.
อวัยวะเทียมของของเครสเซนต์ถูกพิมพ์ขึ้นจาก เรซิ่นสำหรับงานทันตกรรม (Dental Acrylic Resin) โดยในช่วงแรกสีของเรซิ่นจะเป็นสีขาว แต่เมื่อผ่านการใช้งานไประยะหนึ่งสีของเรซิ่นจะค่อย ๆ เปลี่ยนกลายเป็นสีเหลืองดูธรรมชาติเช่นเดียวกับฟันปลอมของมนุษย์
.
.
ขอบคุณเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ที่ใส่ใจจึงสังเกตเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นบนโหนกของเครสเซนต์ได้ทันเวลา ช่วยให้ ดร.เคนดราและทีมสามารถหาทางรักษานำมะเร็งร้ายออกจากโหนกของเครสเซนต์ได้สำเร็จ จนเธอสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขและมีชีวิตยืนยาวขึ้น
.
เกร็ดความรู้เก็บมาฝาก
นกกก ( Great Hornbill, Buceros bicornis) มีขนาด 120-140 เซนติเมตร เป็นนกเงือกที่มีขนาดใหญ่มาก มีทั้งขนสีดำ-ขาว ตัวผู้อาจมีขนาดใหญ่ถึง 1.5 เมตร บริเวณหน้า คางและส่วนใต้โหนกมีสีดำ คอขาว ปีกสีดำแถบขาวและปลายขนมีสีขาว หางสีขาวมีแถบดำพาดค่อนไปทางปลายหาง จะงอยปากมีสีเหลืองปลายปากมีสีส้ม
.
.
.
นกกกเป็นสัตว์ที่น่าเกรงขามสามารถพบได้ในป่าลึกแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่นกชนิดนี้กำลังได้รับความทุกข์ทรมานจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยเหตุเพราะการตัดไม้ทำลายป่าของมนุษย์ ซึ่งนั่นส่งผลให้ประชากรนกกกลดลงอย่างรวดเร็วและมีสถานะใกล้สูญพันธุ์
.
.
.
.
.
ช่วยกดไลก์ กดแชร์ เป็นกำลังใจให้ Dog’s Clip ด้วยนะครับ
หากมีประสบการณ์ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจของเหล่าเพื่อนสัตว์
อย่าลืมส่งมาแบ่งปันด็อกคลิปนะครับ เรื่องราวของคุณอาจสร้างแรงบันดาลใจ
หรือช่วยให้เหล่าเพื่อนสัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
กดเพื่อเข้าร่วมกลุ่มด็อกคลิป , กดเพื่อส่งเรื่องราวของคุณ หรือติดแฮชแท็ก #dogsclip
..................................................................
บทความโดย dogsclip.com
“บทความถูกรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยสำนวนของด็อกคลิป บทความมีลิขสิทธิ์ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก และ หรือ ดัดแปลงนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อสร้างรายได้ก่อนได้รับอนุญาต”
.
.