ลูกพอสซัมกำพร้าต้องดูดปลายหางแทนจุกนมแม่ หลังต้องเสียแม่ไปเพราะกระสุนของมนุษย์ใจร้าย

...กำลังโหลดข้อมูล...

.

.

.

“มิสซี่ ดับบิสสัน” (Missy Dubuisson) ผู้ก่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า Wild At Heart Rescue ที่ตั้งอยู่ในแจ็กสันเคาน์ตี รัฐมิสซิสซิปปี ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ช่วยลูกพอสซัมตัวน้อย 6 ตัวที่เพิ่งจะลืมตาดูโลกได้เพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ แต่กลับต้องตกอยู่ในสถานะกำพร้าเมื่อขาดแม่เหตุเพราะถูกมนุษย์ใจร้ายยิงตาย พวกเขากำลังหิวไร้น้ำนมจากอกแม่ให้ดื่มกิน... ลูกพอสซัมตัวน้อยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เริ่มหิวจึงเริ่มดูดปลายหางของพวกเขาแทนจุกนมของแม่... 

Wild at Heart Rescue

.

“เหมือนกับทารกทั่วไป พวกเขาจะสงบลงเมื่อได้ดูดจุกนม ลูกพอสซัมตัวน้อยค้นพบว่าปลายหางสามารถใช้แทนจุกนมของแม่ได้”

มิสซี่กล่าว

.

มิสซี่ได้เห็นความน่ารักของลูกพอสซัมตัวน้อยขณะกำลังดูดหางของตัวเอง และเธอได้บันทึกภาพเหล่านั้นเอาไว้ก่อนที่จะโพสต์ลงบนหน้าเฟซบุ๊กแฟนเพจของศูนย์ฯ เพื่อแบ่งปันความน่ารักที่มีเบื้องหลังน่าเศร้าให้กับชาวโลกออนไลน์ได้เห็น ...

Wild at Heart Rescue

.

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ลูกพอสซัมตัวน้อยทั้ง 6 ชีวิตเพิ่งเข้ามาอยู่ในความดูแลของมิสซี่ภายในศูนย์ฯ พวกเขามีน้ำหนักตัวน้อยกว่าที่ควรจะเป็นถึงหนึ่งในสี่ ผิวของพวกเขายังบอบบางเป็นสีชมพูอยู่เลย ซึ่งการมีชีวิตอยู่รอดของพวกเขานับว่าเป็นความโชคดีมากๆ เพราะตามปกติแล้วลูกพอสซัมวัยแรกเกิดพวกเขาจะต้องได้รับการดูแลจากแม่อย่างใกล้ชิด ใช้ชีวิตตัวติดกับจุกนมอยู่ภายในถุงหน้าท้องของแม่แบบนั้นนานถึง 4 เดือนก่อนที่จะปีนขึ้นไปเกาะอยู่บนหลังของแม่นานอีกหลายเดือน  แต่ด้วยประสบการณ์ในการดูแลพอสซัมกำพร้าหลายครั้งทำให้มิสซี่และเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์ฯ เชื่อว่าจะสามารถช่วยและทำให้เด็กน้อยทั้ง 6 ชีวิตเติบโตขึ้นมาเป็นพอสซัมโตเต็มวัยที่แข็งแรงได้ ...

Wild at Heart Rescue

.

“ขนาดตัวของเด็กๆ ในตอนที่เกิดมามีขนาดเล็กเท่ากับเม็ดถั่วเท่านั้น ก่อนที่พวกเขาจะไต่ไปอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องของแม่และเติบโตอยู่ภายในนั้น ฉันคิดว่าเด็กๆ ทั้ง 6 ตัวนี้น่าจะมีอายุได้เพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น”

มิสซี่กล่าว

.

เพื่อให้เด็กๆ ทั้ง 6 ตัวอบอุ่นและรู้สึกสบายเหมือนอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องของแม่จริงๆ มิสซี่จึงได้สร้างกระเป๋าใบเล็กๆ ขึ้นมาเลียนแบบกระเป๋าหน้าท้องของแม่พอสซัม ก่อนจะนำกระเป๋าใบนั้นไปวางไว้ในตู้อบเพื่อให้ลูกพอสซัมรู้สึกถึงความอบอุ่น ลูกพอสซัมจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากมิสซี่และเจ้าหน้าที่ของเธอ จนกว่าพวกเขาจะเติบโตขึ้น หลังจากนั้นพวกเขาจะถูกย้ายไปดูแลบริเวณพื้นที่กลางแจ้ง เพื่อฝึกให้พวกเขาคุ้นเคยกับสภาพอากาศภายนอก และฝึกใช้ชีวิต เช่น การปีนป่าย ทำรัง เหมือนอย่างพอสซัมตัวอื่นๆ 

Wild at Heart Rescue

.

มิสซี่เชื่อว่าพอสซัมทุกตัวควรค่าแก่การอนุรักษ์ ซึ่งค่อนข้างขัดกับความเชื่อของคนในชุมชนที่มักเข้าใจว่าพอสซัมสกปรกและเป็นตัวพาหะนำเชื้อโรคเช่นเดียวกับหนู แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลย พวกเขาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีถุงหน้าท้องเหมือนจิงโจ้ มิสซี่พยายามให้ความรู้กับคนในชุมชนเกี่ยวประโยชน์ของสัตว์ตัวเล็กที่มีกระเป๋าหน้าท้องเหล่านี้ พอสซัมจะกินสิ่งมีชีวิตที่สร้างความรำคาญให้กับมนุษย์เราไม่ว่าจะเป็นงูพิษ เห็บและแมลงเป็นจำนวนมากประมาณ 5,000 ตัวต่อเดือนเลยทีเดียว แต่ภัยร้ายที่กำลังคุกคามพอสซัมอยู่ในตอนนี้ก็คือโรคพิษสุนัขบ้า! 

Wikipeidia

.

“พอสซัมนั้นถูกเข้าใจผิดบ่อยมาก พวกเขาช่วยลดจำนวนของเห็บซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคไลม์ (Lyme Disease) พวกเขายังตระเวนกินงูพิษและกินซากของสัตว์ที่ตายแล้วด้วย พวกเขาจำเป็นมากต่อระบบนิเวศของเรา”

มิสซี่กล่าว

.

Wild at Heart Rescue

.

เมื่อพอสซัมตัวน้อยทั้ง 6 ตัวเติบโตแข็งแรงขึ้นและพร้อมที่จะกลับเข้าไปใช้ชีวิตในป่า มิสซี่จะปล่อยให้พวกกลับคืนสู่อิสรภาพในพื้นที่ป่า สถานที่ที่พวกเขาจะสามารถใช้ชีวิตที่ยืนยาวและมีความสุขตามสมควรที่พวกเขาพึงได้รับ...

.

รับชมคลิป

.

.

โรคไลม์คืออะไร?

โรคไลม์ (Lyme disease) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างคล้ายเกลียวสว่าน ชื่อว่า Borrelia burgdorferi (บอร์รีเลีย เบริ์กโดเฟอรี่) ซึ่งพาหะที่สำคัญในการนำโรคมายังคนคือตัว “เห็บ” ปกติเชื้อชนิดนี้จะทำให้เกิดการติดเชื้อในสัตว์ โดยสัตว์ที่เป็นแหล่งกักตุนเชื้อโรคหรือรังโรคที่สำคัญได้แก่ สุนัข แมว ม้า กวาง วัว ควาย หนู เป็นต้น เมื่อเห็บไปดูดเลือดสัตว์เหล่านี้และไปกัดสัตว์อื่นๆ หรือกัดคนเพื่อดูดเลือดทำให้มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อ ส่งผลให้สัตว์หรือคนที่ถูกกัดเป็นโรคได้ ส่วนใหญ่การระบาดของโรคนี้จะอยู่ในพื้นที่ของประเทศแถบอเมริกา ยุโรปและออสเตรเลีย

.

อาการของโรคไลม์

บริเวณที่ถูกเห็บกัดจะมีลักษณะแผลเรียบสีแดง และขยายวงกว้างออกไป โดยมีชื่อเรียกลักษณะที่เกิดขึ้นว่า erythema migrans นอกจากนี้อาจมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมาอีกนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน อาจมีอาการปวดทางข้อ อาการทางระบบประสาท อาจเกิดการอัมพาตหรือการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อซีกใดซีกหนึ่งของใบหน้า รวมถึงมีภาวะใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจตื้น ถ้าไม่มีการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้แก่ ปวดหัวรุนแรง ปวดข้อ เอ็น กล้ามเนื้อและกระดูกอย่างรุนแรง ส่งผลให้การเคลื่อนไหวผิดปกติ นอกจากนี้อาจมีปัญหาด้านการรับรู้ การจดจำ การพูด และอารมณ์แปรปรวนตามมาได้ รวมถึงมีโอกาสที่จะเกิดภาวะผิดปกติที่หัวใจและปอดร่วมด้วย ซึ่งถ้ามีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้

.

การรักษา

ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาที่รวดเร็วจะทำให้สามารถฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังลดโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเช่น Doxycycline, Amoxicillin หรือ Ceftriaxone เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการติดตามอาการรวมถึงเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนระหว่างและภายหลังการรักษาเช่นกัน

.

การป้องกัน

- หลีกเลี่ยงการไปในบริเวณที่มีเห็บชุกชุมหรือพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค

- สวมเสื้อผ้าให้มิดชิดรวมถึงใช้ยาป้องกันแมลงกัดทุกครั้งเมื่อไปเที่ยวป่าหรือเข้าไปในบริเวณที่มีหญ้าขึ้นสูงและรก

- รักษาความสะอาดที่อยู่อาศัยและพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยของเห็บและแมลงอื่นๆ

- หมั่นรักษาความสะอาดของสัตว์เลี้ยงอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่ของเห็บรวมถึงลดโอกาสการแพร่เชื้อจากเห็บสู่คน

- ถ้าโดนเห็บกัดให้รีบดึงตัวเห็บออก จากนั้นทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำเปล่า น้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์ล้างแผล หมั่นสังเกตอาการ ถ้าพบว่ามีภาวะผิดปกติเกิดขึ้นให้รีบพบแพทย์ทันที

.

ขอบคุณข้อมูลจาก The DodoWild at Heart Rescueคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
.

.

.

 

.
ช่วยกดไลก์ กดแชร์ เป็นกำลังใจให้ Dog’s Clip ด้วยนะครับ
หากมีประสบการณ์ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจของเหล่าเพื่อนสัตว์
อย่าลืมส่งมาแบ่งปันด็อกคลิปนะครับ เรื่องราวของคุณอาจสร้างแรงบันดาลใจ
หรือช่วยให้เหล่าเพื่อนสัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
กดเพื่อเข้าร่วมกลุ่มด็อกคลิป , กดเพื่อส่งเรื่องราวของคุณ หรือติดแฮชแท็ก #dogsclip 

..................................................................
บทความโดย dogsclip.com

“บทความถูกรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยสำนวนของด็อกคลิป บทความมีลิขสิทธิ์ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก และ หรือ ดัดแปลงนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อสร้างรายได้ก่อนได้รับอนุญาต”

.

.