“มอสควา” (Moskva) เป็นเรือตัดน้ำแข็งพลังงานน้ำมันที่ใหญ่และทรงพลังที่สุดในช่วงปี พ.ศ. 2503 - 2535 และชื่อของมอสควาได้รับความสนใจจากนานาชาติมากขึ้นอีกครั้งหลังปี พ.ศ. 2527 เพราะมอสควาได้ช่วยชีวิตวาฬเบลูก้ามากกว่า 2,000 ตัวไว้ได้สำเร็จด้วยพลังและเสียงเพลง!
.
ย้อนกลับไปในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2526 หรือเมื่อเกือบ 38 ปีก่อน ชาวประมงกลุ่มหนึ่งได้พบเห็นฝูงวาฬเบลูก้าจำนวนมาก หากประเมินด้วยสายตาก็น่าจะประมาณ 2,000 กว่าตัวได้ ในบริเวณน่านน้ำคาบสมุทรชุคชีที่กำลังจะถูกปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง ตอนแรกชาวประมงต่างรู้สึกตื่นเต้นและดีใจที่มีโอกาสได้พบกับฝูงวาฬเบลูก้าจำนวนมากในการออกล่าครั้งนั้น พวกเขารู้ดีว่าเนื้อวาฬเบลูก้ามีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีรสชาติเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนในแถบนั้น แต่ไม่กี่นาทีต่อมาพวกเขาก็เริ่มตระหนักถึงความผิดปกติบางอย่างที่กำลังเกิดขึ้น...
.
สภาพอากาศที่หนาวเย็นสุดหฤโหดได้ทำให้ผิวน้ำเย็นจัดจนกลายเป็นแผ่นน้ำแข็งที่หนากว่า 4 เมตรและบางส่วนก็กำลังกลายเป็นกำแพงน้ำแข็งล้อมรอบ ขังฝูงวาฬเบลูก้าทั้งหมดเอาไว้ อย่างที่ทราบวาฬเบลูก้าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและใช้ปอดขนาดใหญ่ในการหายใจ ดังนั้นพวกเขาจึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องโผล่ขึ้นมาจากน้ำเพื่อหายใจทุก ๆ 20 นาที อย่างไรก็ตามความหนาวเย็นก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะอ่อนกำลังลงมีแต่จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ผิวน้ำที่ยังคงสถานะของเหลวก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นน้ำแข็งและแผ่ขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ คล้ายกำลังไล่ต้อนให้เหล่าวาฬเบลูก้าจนมุม
.
สิ่งที่ทำให้ชาวประมงรู้สึกกังวลใจมากที่สุดในตอนนั้นก็คงจะเป็นตำแหน่งที่ฝูงวาฬเบลูก้าถูกขังอยู่ เพราะตำแหน่งดังกล่าวไกลจากทะเลเปิดมากถึง 4 กิโลเมตรเลยทีเดียว ซึ่งนั่นแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ฝูงวาฬเบลูก้าจะว่ายน้ำมุ่งหน้าสู่ทะเลเปิดโดยการหายใจเพียงครั้งเดียว แต่อย่างไรก็ตามการที่ฝูงวาฬเบลูก้าเลือกที่จะอยู่รวมกันในตำแหน่งเดิมก็ไม่ใช่ความคิดที่ดีเท่าไหร่นักเนื่องจากบริเวณผิวน้ำที่ยังคงไม่เปลี่ยนสถานะกลายเป็นน้ำแข็งและมีลักษณะเป็นปากบ่อทำให้เหล่าวาฬเบลูก้าสามารถผลัดกันขึ้นมาหายใจได้ก็กำลังมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ เช่นกัน
.
มีเพียงปาฏิหาริย์เท่านั้นที่จะสามารถช่วยชีวิตฝูงวาฬเบลูก้าทั้งหมดเอาไว้ได้
.
ภายหลังชาวประมงได้นำเรื่องฝันร้ายของเหล่าวาฬเบลูก้าที่กำลังเผชิญกับความหนาวเย็นสุดหฤโหดอันเป็นผลจากธรรมชาติที่เพิ่งพบเจอมาเล่าสู่ชาวเมืองฟัง… ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวทำให้ชาวเมืองและกลุ่มชาวประมงส่วนใหญ่รู้สึกไม่สบายใจและไม่อาจจะทำเพิกเฉยต่อความทุกข์ยากของเหล่าเพื่อนสัตว์ตัวโตที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์คับขันเสี่ยงเกิดโศกนาฏกรรมหมู่ครั้งใหญ่ได้ พวกเขาจึงรวมตัวระดมความคิดหาทางช่วย ก่อนจะตัดสินใจยกขบวนออกเดินทางไกลไปหาฝูงวาฬเบลูก้าพร้อมกับปลาแช่แข็งที่เตรียมไปเป็นอาหารของฝูงวาฬเบลูก้าด้วย หลังจากที่เดินทางไปถึงแล้วพวกเขายังร่วมมือกันลงแรงเจาะแผ่นน้ำแข็งหนาเพื่อขยายปากบ่อให้กว้างขึ้นและเพียงพอต่อจำนวนวาฬเบลูก้าทั้งฝูงให้สามารถผลัดกันขึ้นมาหายใจได้
.
แต่ดูเหมือนความโชคร้ายยังไม่สิ้นสุด เมื่อฝูงวาฬเบลูก้ากำลังจะต้องรับมือกับพายุฤดูหนาวที่รุนแรงระลอกใหม่ที่กำลังเคลื่อนตัวใกล้เข้ามาอีกครั้ง ซึ่งนั่นอาจจะทำให้วาฬเบลูก้าทั้งหมดต้องตายอย่างทรมานและถูกแช่แข็งอยู่ใต้แผ่นน้ำแข็งหนา
.
กระทั่งช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 แสงสว่างแห่งความหวังของฝูงวาฬเบลูก้าก็ส่องสว่างขึ้นอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลรัสเซียได้ทราบเรื่องว่าชีวิตของฝูงวาฬเบลูก้า 2,000 ตัวกำลังวิกฤติและต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน พวกเขาจึงได้เร่งส่งมอสควาเรือตัดน้ำแข็งที่ทรงพลังที่สุดในเวลานั้นออกไปช่วย ก่อนที่ผิวน้ำที่เหลืออยู่น้อยนิดจะกลายเป็นแผ่นน้ำแข็งปิดช่องหายใจของฝูงวาฬเบลูก้าจนหมด
.
อย่างไรก็ตามการเดินทางก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง เมื่อเริ่มเข้าใกล้จุดที่ฝูงวาฬเบลูก้าถูกขังอยู่ “โควาเลนโก้” (Kovalenko) กัปตันเรือก็พบว่าน้ำที่กลายเป็นแผ่นน้ำแข็งมีความหนามากกว่าที่ประเมินเอาไว้มาก แต่อย่างไรแล้วพวกเขาก็ตัดสินใจเดินเครื่องตัดแผ่นน้ำแข็งมุ่งหน้าสู่ปลายทางต่อไป
.
ในขณะที่ทางน่านน้ำกำลังพยายามเร่งเครื่องกันอย่างสุดกำลัง ทางอากาศก็มีเฮลิคอปเตอร์อีกลำที่กำลังบินลำเลียงปลาสด ๆ ไปทิ้งเหนือปากบ่อที่ฝูงวาฬเบลูก้าใช้หายใจเพื่อเป็นอาหารให้กับพวกเขาได้กินประทังชีวิตในระหว่างรอความช่วยเหลือ
.
หลังจากนั้น 2-3 วัน มอสควาก็เดินทางไปถึงจุดที่ฝูงวาฬเบลูก้าถูกขังอยู่ แต่ปัญหาใหม่กลับตามมาเมื่อเหล่าวาฬเบลูก้าส่วนใหญ่กำลังอ่อนแอและหวาดกลัวเสียงเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ของเรือยักษ์ ทีมช่วยเหลือจึงเริ่มต้นภารกิจตัดแผ่นน้ำแข็งในบริเวณที่ฝูงวาฬเบลูก้ารวมกลุ่มกันอยู่ให้กว้างขึ้นเป็นลำดับแรก ด้วยหวังว่าจะช่วยทำให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลายและกังวลน้อยลงเมื่อได้เห็นปากบ่อที่เคยคับแคบกว้างขึ้น ทว่าความพยายามดังกล่าวกลับไม่ได้สร้างความเชื่อใจทำให้เหล่าวาฬเบลูก้าและยอมว่ายน้ำตามมอสควากลับออกไปยังทะเลเปิดซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่า
.
ปัญหาที่เกิดขึ้นสร้างความหนักใจให้กับทีมช่วยเหลืออย่างมาก พวกเขาระดมความคิดหาวิธีแก้ปัญหาแต่ก็จนปัญญาเกินกว่าจะเข้าใจเหล่าวาฬเบลูก้า จนกระทั่งลูกเรือคนหนึ่งได้เสนอแนวคิดวิธีที่ไม่น่าจะเป็นได้ว่า "ให้เปิดเสียงดนตรี" ระหว่างที่มอสควานำทางเหล่าวาฬเบลูก้ามุ่งสู่ทะเลเปิด พร้อมกับให้เหตุผลว่าเขาเคยได้ยินว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในท้องทะเลมักจะตอบสนองเมื่อได้ยินเสียงดนตรี ถึงแม้ว่าวิธีการและเหตุผลจะฟังดูเป็นเรื่องที่ไม่เข้าที แต่เมื่อไม่มีทางเลือกกัปตันจึงตัดสินใจที่จะลองเสี่ยงดูอีกครั้ง
.
เสียงดนตรีถูกเปิดขึ้นที่บริเวณด้านบนดาดฟ้าของเรือ ก่อนที่ลูกเรือจะทดลองเริ่มเปิดเสียงดนตรีและค่อย ๆ เปลี่ยนเสียงดนตรีไปทีละประเภทตั้งแต่ป๊อบจนถึงคลาสสิก ซึ่งหลังจากที่ได้ทดสอบอยู่นานก็พบว่าวาฬเบลูก้ามีการตอบสนองต่อเสียงดนตรีจริง ๆ พวกเขาจะเริ่มว่ายเข้ามาใกล้ ๆ เรือเมื่อได้ยินเสียงดนตรีที่ชื่นชอบซึ่งเสียงนั้นคือ "เสียงดนตรีคลาสสิก"
.
ทันทีที่แน่ใจแล้วว่าเสียงดนตรีจะทำให้ฝูงวาฬเบลูก้าเชื่อใจ กัปตันจึงสั่งให้เปิดเพลงคาสสิกวนไปอย่างต่อเนื่องก่อนจะหันหัวเรือและเร่งเครื่องยนต์มุ่งหน้าสู่ทะเลเปิดอีกครั้ง พร้อมกับได้รายงานไปยังศูนย์วิทยุว่า
“กลยุทธ์ของเราคือ เตรียมตัวให้พร้อมและแล่นผ่านแผ่นน้ำแข็งหนาอีกครั้ง เราจะเดินหน้าและหยุดรอ เราทำซ้ำ ๆ หลายครั้งจนฝูงวาฬเบลูก้าเริ่มเข้าใจและรับรู้ถึงความหวังดีของพวกเรา ก่อนจะเริ่มว่ายตามเรือมาติด ๆ ”
.
หลังจากที่ฝูงวาฬเบลูก้าเข้าใจในความหวังดี กัปตันจึงสั่งให้เดินเรือครั้งละ 1 กิโลเมตรแล้วหยุดรอให้วาฬเบลูก้าตามมา ภารกิจใช้เวลานานหลายสัปดาห์จนกระทั่งช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 วาฬเบลูก้าประมาณ 2,000 กว่าตัวก็เดินทางมาถึงทะเลเปิด พวกเขารอดชีวิต! ไม่ถูกแช่แข็งตายยกฝูง
.
ทั้งหมดนี้ต้องขอบคุณความเมตตากรุณาจากเพื่อนมนุษย์และที่สำคัญที่สุดคือความใฝ่รู้และความกล้าหาญที่จะแสดงความเห็นของลูกเรือ ถึงแม้จะถูกหลายคนมองว่าไม่น่าเป็นไปได้ในตอนแรกก็ตาม แต่ไม่สำคัญแล้วล่ะเพราะตอนนี้เขาได้กลายเป็น "ฮีโร่" ความคิดสุดล้ำของเขาได้ช่วยให้วาฬเบลูก้า 2,000 กว่าตัวรอดชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งปาฎิหาริย์!
.
.
"ปฎิการณ์เบลูก้า" (Operation Beluga) ยิ่งกลายเป็นเรื่องราวที่น่าประทับใจมากขึ้น เมื่อทราบว่าภารกิจดังกล่าวต้องสูญเงินไปมากกว่า 80,000 ดอลลาร์ (หรือประมาณ 200,000 ดอลลาร์หากเทียบกับค่าเงินในปัจจุบัน) เพราะนั่นเน้นย้ำว่าผู้คนและรัฐบาลรัสเซียให้ความสำคัญ พร้อมปกป้องเพื่อนสัตว์อย่างมีมนุษยธรรม
.
.
.
.
ช่วยกดไลก์ กดแชร์ เป็นกำลังใจให้ Dog’s Clip ด้วยนะครับ
หากมีประสบการณ์ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจของเหล่าเพื่อนสัตว์
อย่าลืมส่งมาแบ่งปันด็อกคลิปนะครับ เรื่องราวของคุณอาจสร้างแรงบันดาลใจ
หรือช่วยให้เหล่าเพื่อนสัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
กดเพื่อเข้าร่วมกลุ่มด็อกคลิป , กดเพื่อส่งเรื่องราวของคุณ หรือติดแฮชแท็ก #dogsclip
..................................................................
บทความโดย dogsclip.com
“บทความถูกรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยสำนวนของด็อกคลิป บทความมีลิขสิทธิ์ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก และ หรือ ดัดแปลงนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อสร้างรายได้ก่อนได้รับอนุญาต”
.
.