คงไม่มีคำพูดไหนที่มีความหมายเหมาะสมไปมากกว่า “อย่าตัดสินหนังสือที่หน้าปก” อีกแล้วสำหรับเรื่องราวของ “ไทสัน” (Tyson) น้องแมวส้มตัวอ้วนอายุ 2 ปีที่ถูกช่วยเหลือมาจากชีวิตที่ยากลำบากข้างถนน ก่อนจะได้เข้ามาอยู่ในความดูแลของ The Helen O. Krause Animal Foundation ศูนย์พักพิงสัตว์ที่ไม่มีนโยบายการุณยฆาต ในรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ว่าที่นั่นไทสันจะได้รับการดูแลที่ดีอย่างไม่มีกำหนดแต่ทว่าโอกาสในการมีบ้านกลับไม่ได้เกิดขึ้นกับเขาง่ายเช่นสัตว์ไร้บ้านตัวอื่น ๆ การรอคอยของเขายาวนานกว่า 6 ปี จนกระทั่งในวันนี้เขาได้เติบโตขึ้นกลายมาเป็นแมวเหมียวหนุ่มหน้าเหวี่ยงมาดเข้มเต็มพิกัด!
.
ตามกฎระเบียบของศูนย์พักพิงฯ เมื่อมีสัตว์ไร้บ้านตัวใหม่ถูกช่วยเหลือเข้ามาเจ้าหน้าที่ศูนย์พักพิงฯ ต้องตรวจร่างกายพวกเขาก่อนอย่างละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่าสมาชิกใหม่จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและไม่ป่วยเป็นโรคติดต่อร้ายแรงอื่นใดที่ต้องเป็นกังวลใจ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของสัตว์ไร้บ้านตัวอื่นภายในศูนย์พักพิงฯ แต่หากตรวจพบว่าป่วยก็จะได้คัดแยกไปอยู่อีกโซนเพื่อให้ง่ายสำหรับการดูแลด้วย ซึ่งกฎดังกล่าวได้ถูกบังคับใช้กับไทสันด้วยเช่นกัน แต่โชคร้ายที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าร่างกายไทสันมีความผิดปกติ ป่วยเป็น "โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง" หรือ "โรคเอดส์แมว" (Feline Immunodeficiency Virus Infection : FIV) ซึ่งโรคดังกล่าวสามารถติดต่อสู่น้องแมวตัวอื่น ๆ ได้ นั่นทำให้เขาจึงต้องถูกแยกไปอยู่โซนสัตว์ป่วย
.
.
โดยปกติแล้วน้องแมวที่ป่วยเป็น FIV มักจะถูกมองข้ามจากผู้รับอุปการะส่วนใหญ่ นั่นเป็นเพราะได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ศูนย์พักพิงสัตว์ฯ ว่า น้องแมวในกลุ่มนี้จะมีร่างกายที่อ่อนแอ ป่วยง่ายและอาจมีโรคร้ายอื่น ๆ แทรกซ้อนได้ในอนาคต นอกจากนั้นแล้วการเลี้ยงดูก็มีข้อจำกัดหลายอย่างเช่น น้องแมวต้องถูกเลี้ยงไว้เพียงหนึ่งเดียวในบ้านหรือเลี้ยงรวมกับน้องแมวที่ป่วยด้วยโรคเดียวกันเท่านั้นและต้องเลี้ยงในระบบปิด ทั้งนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยและเพื่อป้องกันไม่ให้น้องแมวกลายเป็นพาหะแพร่เชื้อไปสู่น้องแมวตัวอื่น ๆ ด้วย ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นข้อเท็จจริงที่เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องแจ้ง
ให้กับผู้อุปการะทุกคนทราบก่อนที่จะตัดสินใจรับอุปการะน้องแมวป่วย FIV ทุกครั้ง ด้วยต้องการให้น้องแมวป่วย FIV ทุกตัวถูกรับอุปการะด้วยความเต็มใจและมีโอกาสได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกับชีวิตใหม่จริง ๆ
.
แต่อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ก็จะเน้นย้ำเสมอเช่นกันว่าหากน้องแมวที่ป่วย FIV ได้รับการดูแลอย่างดีด้วยวิธีที่เหมาะสมแล้ว พวกเขาก็ย่อมจะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวและเป็นปกติสุขได้เหมือนกับน้องแมวทั่ว ๆ ไปได้เช่นกัน
.
.
แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ศูนย์พักพิงสัตว์ฯ ไทสันเป็นน้องแมวที่น่ารัก ทำให้พวกเขาตกหลุมรักได้ง่าย ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ แต่น่าเศร้าที่อาการป่วยของเขากลับเป็นเหมือนหน้าปกหนังสือที่ไม่น่าเปิดอ่าน จนเป็นเหตุทำให้ผู้อุปการะหลายคนมองข้ามไม่อยากจะเดินเข้าไปทำความรู้จักเท่าไหร่นัก ไทสันถูกปฎิเสธและพลาดโอกาสการมีบ้านหลายครั้ง ต้องอดทนรอโอกาสครั้งใหม่อยู่เรื่อย ๆ แต่เขาก็ไม่เคยรู้สึกท้อ และตั้งตารออย่างมีหวังที่จะได้เจอใครสักคนที่พร้อมรัก กล้าเดินเข้ามาสัมผัสและใช้เวลาค้นหาตัวตนของเขาเสมอ
.
เจ้าหน้าที่เชื่อมั่นว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้ใครก็ตามที่ได้มีโอกาสเปิดอ่านมีรอยยิ้มและเพลิดเพลินก่อนจะตกหลุมรักจนวางไม่ลงได้แน่ ๆ แม้ว่าหน้าปกจะไม่ได้น่าสนใจคล้ายนิยายสยองขวัญเหมียวหง่าวหน้าเหวี่ยงและเจ็บป่วยก็ตามที
.
.
อย่างไรก็ตามหน้าเหวี่ยง ๆ และนิสัยน่ารักที่แอบซ่อนอยู่ก็ทำให้ไทสันต้องอดทนรอนานถึง 6 ปีแล้ว…
.
กระทั่งช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา “แจนเนลเล” (Janelle) และ “แซ็ค เจมส์” (Zach James) สองสามีภรรยาที่กำลังมองหาน้องแมวเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในบ้านได้เจอรูปหน้าเหวี่ยงไม่สบอารมณ์ของไทสันบนหน้าเว็บไซต์ของศูนย์พักพิงฯ แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่คงจะเลื่อนผ่านและเร่งมองหาน้องแมวยิ้มหวาน แต่ไม่ใช่กับสองสามีภรรยาคู่นี้เพราะพวกเขารู้สึกขำและสนใจใบหน้าสุดเหวี่ยงมาดเข้มที่ดูคล้ายกำลังพยายามกลบเกลื่อนความไร้เดียงสาเอาไว้ ทั้งคู่มั่นใจเลยว่าไทสันคือน้องแมวที่กำลังตามหา
.
.
แจนเนลเลและแซ็คติดต่อไปยังศูนย์พักพิงฯ เพื่อแจ้งความประสงค์ขอรับอุปการะไทสัน ซึ่งในตอนนั้นเจ้าหน้าที่ก็ได้แจ้งเรื่องสำคัญที่พวกเขาควรรู้เกี่ยวกับไทสัน ไม่ว่าจะเป็นโรค FIV และการดูแลที่ต้องเอาใจใส่มากเป็นพิเศษหลายอย่างให้ทราบด้วย แต่ทว่าหลังจากสิ้นคำชี้แจ้งสองสามีภรรยากลับยังคงยืนยันคำเดิมไม่เปลี่ยน พวกเขาพร้อมและสามารถรับมือกับภาระหลายอย่างที่จะตามมาได้!
.
แน่นอนคำตอบของแจนเนลเลและแซ็คทำให้เจ้าหน้าที่ศูนย์พักพิงฯ รู้สึกตื่นเต้นและดีใจมาก ไทสันน้องแมวที่น่ารักและเฝ้ารอการมีบ้านมานาน 6 ปีเต็มกำลังจะได้มีบ้านและครอบครัวที่อบอุ่นคอยดูแลแล้ว อย่างไรก็ตามข่าวดีนี้ก็ทำให้พวกเขาต่างรู้สึกใจหายเช่นกันเพราะเคยดูแลกันมานานจนผูกพันราวกับเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว แน่นอนพวกเขาจะต้องคิดถึงไทสันมากแน่ ๆ
.
ไทสันได้พบกับบ้านหลังใหม่ในวัย 8 ปี และโชคดีที่การย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านหลังใหม่ก็ไม่ได้เป็นปัญหามากนัก เขาสามารถปรับตัวได้เพียงแค่ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ นั่นคงเป็นเพราะที่ผ่านมาเขาต้องอยู่ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่มากหน้าหลายตาจึงสามารถรับมือกับพฤติกรรมที่หลากหลายของมนุษย์ได้ดี แต่ก็ยังคงน่าแปลกใจเมื่อสถานที่แปลกตากลับไม่ได้ทำให้ไทสันรู้สึกหวาดกลัวจนมีอาการประหม่า ทั้งที่ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมาต้องอยู่แต่ในพื้นที่ปิดภายในศูนย์พักพิงฯ โซนสัตว์ป่วยเท่านั้น เขาแทบจะไม่เคยได้เปลี่ยนที่อยู่เลย...
.
“ทันทีที่เราพาไทสันเข้ามาที่บ้าน เขาก็เริ่มเดินสำรวจไปรอบ ๆ บ้าน และหลังจากนั้นไม่นานนักเขาก็ประกาศตัวเป็นเจ้านายของเราอย่างสมบูรณ์แบบ เขาชอบเอาตัวมาถูตามตัวของเราและชอบส่งเสียงหัวเราะอยู่บ่อย ๆ ใช่เสียงร้องของเขาแปลกและเป็นเอกลักษณ์ ฉันว่าเขามีความสุขกับบ้านของเรานะ”
แจนเนลเลกล่าว
.
.
โชคดีที่ไทสันไม่มีอาการป่วยอื่นใดแทรกซ้อนในตอนนี้ แต่คุณพ่อคุณแม่ของเขาก็ได้วางแผนหาทางป้องกันเอาไว้แล้วล่ะ โดยการซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพอย่างละเอียดให้กับไทสันปีละ 2 ครั้ง หากวันไหนร่างกายไทสันอ่อนแอพวกเขาก็จะได้รักษาเขาได้ให้หายก่อนที่โรคต่าง ๆ จะคุกคามร่างกายของเขาหนักเกินเยียวยา
.
.
.
เจ้าหน้าที่ของศูนย์พักพิงฯ หวังว่าเรื่องราวของไทสันจะทำให้ผู้คนหันมาสนใจรับอุปการะน้องแมวที่ป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ FIV มากขึ้น เพราะพวกเขาก็เหมือนกับน้องแมวตัวอื่น ๆ ที่ต้องการบ้านและคนที่เข้าใจเช่นกัน
.
“น่าเศร้าที่คนจำนวนมากไม่ได้ให้ความสนใจน้องแมวที่ป่วยเป็น FIV มากนัก บางทีพวกเขาอาจจะเป็นน้องแมวที่น่ารักที่สุดก็ได้นะ”
อเล็กซ์ โฮลเดน (Alex Holden) ผู้จัดการศูนย์พักพิง The Helen O. Krause Animal Foundation กล่าว
.
.
.
.
ช่วยกดไลก์ กดแชร์ เป็นกำลังใจให้ Dog’s Clip ด้วยนะครับ
หากมีประสบการณ์ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจของเหล่าเพื่อนสัตว์
อย่าลืมส่งมาแบ่งปันด็อกคลิปนะครับ เรื่องราวของคุณอาจสร้างแรงบันดาลใจ
หรือช่วยให้เหล่าเพื่อนสัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
กดเพื่อเข้าร่วมกลุ่มด็อกคลิป , กดเพื่อส่งเรื่องราวของคุณ หรือติดแฮชแท็ก #dogsclip
..................................................................
บทความโดย dogsclip.com
“บทความถูกรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยสำนวนของด็อกคลิป บทความมีลิขสิทธิ์ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก และ หรือ ดัดแปลงนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อสร้างรายได้ก่อนได้รับอนุญาต”
.
.