64 ปี “ไลก้า” น้องหมาจรจัดข้างถนนสู่ผู้เสียสละจากไปอย่างโดดเดี่ยวในห้วงอวกาศ เพื่อก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ

...กำลังโหลดข้อมูล...

.

.

.

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 ( ค.ศ.1957 ) “ไลก้า”(Laika) อดีตน้องหมาจรจัดตัวน้อยจากข้างถนนในกรุงมอสโก สหภาพโซเวียต (ในขณะนั้น) ได้ถูกบันทึกลงบนหน้าประวัติศาสตร์ของโลกในฐานะ น้องหมาตัวแรกที่ขึ้นสู่อวกาศและสามารถโคจรรอบโลกได้สำเร็จ!  ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของมวลมนุษยชาติในการทดลองขนส่งสิ่งมีชีวิตขึ้นไปบนอวกาศ
.
วีรกรรมของไลก้าสร้างคุณูปการแก่มวลมนุษยชาติ… เธอเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถพัฒนาเทคโลยีดาวเทียมได้สำเร็จและเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้มวลมนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนั้นแล้วเธอยังทำให้ผู้คนมากมายหันมาใส่ใจ มองเห็นคุณค่าและรักน้องหมาจรจัดมากขึ้นด้วย ในวาระครบรอบ 64 ปีวีรกรรมบนหน้าประวัติศาสตร์โลกของไลก้า ด็อกคลิปจึงขอสดุดี...นำวีรกรรมของไลก้ามาเล่าให้ฟังอีกครั้งเพื่อไม่ให้เธอถูกลืมเลือนหายไปพร้อมๆ กับกาลเวลา แต่ขอเตือนกันก่อนนะครับว่าเรื่องราวค่อนข้างสะเทือนอารมณ์สำหรับคนรักสัตว์... ทั้งนี้เพราะเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อ 64 ปีที่แล้ว ขณะที่องค์ความรู้ทางด้านอวกาศยังมีน้อยนักวิทยาศาสตร์เพิ่งเริ่มศึกษา ลงมือทดลอง อีกทั้งสภาพสังคมและเทคโนโลยีต่างๆ ก็ยังไม่ก้าวหน้า มีข้อจำกัดหลายอย่าง ทางเลือกจึงมีไม่มากนัก ดังนั้นอาจจะไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับปัจจุบันได้เสียทีเดียว…
.

NASA / Alexei Novosti

.

ไลก้าเป็นน้องหมาสายพันธุ์ผสมขนาดเล็ก อายุประมาณ 2 ปี หนักเพียงแค่ 6 กิโลกรัมเท่านั้น เธอเป็นน้องหมาจรจัดที่ถูกช่วยเหลือมาจากชีวิตที่ยากลำบากข้างถนนในกรุงมอสโก เพื่อเข้าร่วมโครงการ "spaceflight" ของสหภาพโซเวียต สาเหตุที่ไลก้าถูกเลือกให้เป็นน้องหมาตัวแรกที่จะได้ออกไปเยือนนอกโลกเป็นครั้งแรก นั่นก็เพราะเธอมีขนาดตัวที่เล็กกว่าน้องหมาตัวอื่นๆ ในโครงการ และท่าทีที่สงบเสงี่ยมของเธอ
.

NASA / Alexei Novosti

.

ไลก้าได้รับการฝึกฝนจนสามารถใช้ชีวิตอยู่บนดาวเทียมได้สำเร็จ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเพราะเธอต้องใช้เวลาอยู่นานกว่าจะพร้อม... เริ่มจากการฝึกอยู่ในที่แคบและจำกัดเป็นสิ่งแรก เจ้าหน้าที่จะช่วยดูแลและค่อยๆ ปรับขนาดพื้นที่ให้แคบและเล็กลงเรื่อยๆ เพื่อให้ไลก้าเรียนรู้เพื่อปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จนกระทั่งเธอสามารถอยู่ในที่ที่แคบเท่ากับห้องโดยสารของดาวเทียมได้อย่างไม่มีปัญหา จากนั้นไลก้าก็ต้องเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมเพื่อรับมือกับสภาวะแรงโน้มถ่วงที่จะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อต้องออกไปสู่ห้วงอวกาศด้วยการเข้าไปอยู่ใน "เครื่องปั่นเหวี่ยง" เพื่อให้ร่างกายคุ้นชินให้มากที่สุด ส่วนเรื่องอาหารการกินก็ต้องถูกปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ไลก้าต้องฝึกกินอาหารที่ผลิตขึ้นมาในรูปแบบเยลลี่เพื่อให้สะดวกหากต้องกินในสภาวะไร้น้ำหนัก
.

NASA / Alexei Novosti

.
“ไลก้าเป็นน้องหมาที่มีพันธ์ุผสม ระหว่างสายพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้และเทอร์เรีย เธอเป็นน้องหมาที่น่ารัก อารมณ์ดีและอดทน ดวงตาของเธอเต็มไปด้วยความมืดมนไม่สดใสเหมือนเคย เธอได้รับจูบจากผู้ดูแลเป็นการอำลาก่อนที่ประตูยานจะปิดลง”

ส่วนหนึ่งจากหนังสือบันทึกของไลก้า
.

NASA / Alexei Novosti

.

วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 เป็นวันที่สหภาพโซเวียตสามารถส่งดาวเทียมสปุตนิก 2 ขึ้นสู่วงโคจรของโลกได้สำเร็จ นักวิทยาศาสตร์บอกว่าหลังจากที่ไลก้าขึ้นไปอยู่บนอวกาศแล้ว เธอสามารถมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 6 - 7 วัน จากนั้นก็ถูกป้อนอาหารพิษเพื่อให้จากไปอย่างสงบ ก่อนที่ออกซิเจนบนดาวเทียมจะหมดลง ซึ่งหากปล่อยให้ไลก้าขาดออกซิเจนเธอจะทรมานมากกว่าจะสิ้นใจ อย่าไรก็ตามสหภาพโซเวียตก็ได้อ้างว่า ทั้งหมดนั้นเพื่อการศึกษาหวังประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอีกหลายพันล้านชีวิตบนโลก 
.
ดาวเทียมสปุตนิก 2 สามารถโคจรรอบโลกต่อไปบนอวกาศได้นานอีก 5 เดือนเศษ ก่อนที่จะร่วงลงสู่พื้นโลกอีกครั้ง ณ กลางทะเลแคริเบียน ในสภาพที่ถูกเผาไหม้ไม่มีชิ้นดี พร้อมกับร่างที่ไร้วิญญานของไลก้าน้องหมาจรจัดผู้กล้าหาญและเสียสละเพื่อมนุษย์หลายพันล้านคน ซึ่งก็ถูกเผาไหม้เช่นกัน
.

NASA / Alexei Novosti

ดาวเทียมสปุตนิก 2

.

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปี 2545 (ค.ศ.2002 ) “ดิมิทรี มาลาเชนคอฟ” (Dimitri Malashenkov) นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย (ภายหลังแยกออกจากสหภาพโซเวียต) ได้ออกมาเปิดเผยว่าการเสียชีวิตของไลก้านั้นถูกบิดเบือนมาตลอดระยะเวลานาน 45 ปี ความจริงแล้วไลก้ามีชีวิตรอดได้เพียงแค่ประมาณ 5 - 7 ชั่วโมงเท่านั้น หลังจากที่ดาวเทียมถูกส่งขึ้นจากพื้นโลก เธอตายเพราะความร้อนในห้องโดยสารที่สูงเกินไป
.
จากบันทึกอัตราชีพจรของไลก้าพบว่าอัตราชีพจรของเธอเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าขณะที่ดาวเทียมกำลังพุ่งทะยานขึ้นจากพื้นโลก นั่นหมายความว่าเธอกำลังตื่นตระหนกและหวาดกลัว อัตราชีพจรของเธอลดลงเพียงเล็กน้อยในตอนที่ดาวเทียมเข้าสู่สภาวะไร้น้ำหนัก เห็นได้ชัดว่านักวิทยาศาสตร์ของสหภาพโซเวียตไม่มีเวลามากพอที่จะสร้างระบบช่วยชีวิตที่สมบูรณ์แบบได้ เนื่องจากมีการกดดันทางการเมืองอย่างรุนแรงเพื่อให้เร่งเปิดตัวดาวเทียมสปุตนิก 2
.

NASA / Alexei Novosti

.

ไลก้าเป็นตัวอย่างของชีวิตที่ต้องเผชิญกับโชคชะตาที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว จากหมาจรจัดที่ต้องเร่ร่อนอย่างไร้จุดหมายเพื่อหาอาหารจากกองขยะตามตรอกซอกซอยในกรุงมอสโกเพื่อประทังชีวิต แต่ทว่าช่วงสุดท้ายชีวิตของเธอกลับไม่ได้จบลงที่ข้างถนนหรือในอ้อมกอดของครอบครัว ทว่าหัวใจดวงน้อยๆ ของเธอกลับต้องหยุดเต้นลงอย่างโดดเดี่ยวในสถานที่ที่เงียบสนิทห่างไกลจากพื้นโลกบนห้วงอวกาศ...
.

NASA / Alexei Novosti

.

อย่างไรก็ตามชีวิตของไลก้าไม่ได้สูญเปล่า เธอได้สร้างแรงบันดาลใจและผลักดันให้กับมวลมนุษยชาติเกิดการตื่นตัวพยายามสร้างสรรค์และคิดค้นเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มากมายในหลายด้าน โดยเฉพาะวงการวิทยาศาสตร์และอวกาศ หวังขยายพรมแดนองค์ความรู้
.
นักวิทยาศาสตร์นำข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับดาวเทียมสปุตนิก 2… ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน และแคปซูลโดยสารที่ไม่สามารถกันความร้อนได้ มาเป็นข้อมูลเพื่อพัฒนาต่อยอดสร้างเทคโนโลยีดาวเทียม กระบวนการขนส่งและระบบพยุงชีพผู้โดยสารให้ปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งนั่นทำโครงการดาวเทียมของสหภาพโซเวียตในครั้งถัดมาประสบความสำเร็จกว่าเดิมมาก น้องหมาหลายตัวที่ต้องโดยสารขึ้นไปในอวกาศพร้อมๆ กับดาวเทียมดวงใหม่มีชีวิตรอดกลับลงมาสู่บนพื้นโลกได้อย่างปลอดภัย
.
หลังจากที่สูญเสียไลก้าไปนานกว่า 4 ปี (พ.ศ.2504 หรือ ค.ศ.1961) นักวิทยาศาสตร์ก็แรงพัฒนาและสร้างยานอวกาศที่ปลอดภัยได้สำเร็จในชื่อ "วอสตอค 1" (Vostok 1) ซึ่งสามารถพา "ยูริ กาการิน" (Yuri Gagarin) มนุษย์อวกาศคนแรกของโลกขึ้นสู่ห้วงอวกาศและกลับลงมาบนพื้นโลกอีกครั้งได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ถูกเผาไหม้เหมือนกับไลก้า... 
.

Jersey

ยูริ กาการิน มนุษย์อวกาศคนแรกของโลก
.
อีกสิ่งหนึ่งสำคัญที่เกิดขึ้นหลังจากที่ไลก้าเสียสละชีวิตนั่นคือ ผู้คนจำนวนหนึ่งเริ่มหันกลับมาสนใจและช่วยกันดูแลชีวิตสัตว์จรจัดมากขึ้น มนุษย์ตระหนักแล้วว่าพวกเขาไม่ได้เป็นแค่สัตว์ข้างถนนที่ไร้ค่าและสกปรก แต่ทว่าพวกเขาเป็นเพื่อนร่วมโลกส่วนสำคัญในการสร้างก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติต่างหากล่ะ
.
ด้วยความกล้าหาญและเสียสละของไลก้า สหภาพโซเวียตได้สร้างอนุสาวรีย์ขนาดเล็กให้กับเธอในกรุงมอสโกด้วย เพื่อเป็นเกียรติแด่การเสียสละชีวิตเพื่อมวลมนุษยชาติ 
.

NASA / Alexei Novosti

.

NASA / Alexei Novosti

.

NASA / Alexei Novosti

รอยยิ้มสุดท้ายของไลก้าก่อนจะจากไปตลอดกาล
.................................................................................


เกร็ดความรู้เก็บมาฝาก
.

ในบทความ "เรื่องราวของไลก้า : น้องหมานักบินอวกาศตัวแรกในห้วงอวกาศและภารกิจสปุตนิก 2 ของคอมมิวนิสต์" ซึ่งถูกเขียนโดย "ดร.ลิบบี้ ไกส์" (Dr. Libby Guise) จากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา และอดีตสัตวแพทย์ประจำกระทรวงเกษตรของประเทศสหรัฐฯ ได้อธิบายถึงเหตุผลที่สหภาพโซเวียตต้องส่งไลก้าขึ้นไปพร้อมๆ กับดาวเทียมว่า ในช่วงทศวรรษ 1950 อวกาศเป็นเขตดินแดนที่มนุษย์ยังไม่รู้จัก ไม่มีใครรู้ว่าข้างนอกนั้นเป็นอย่างไรบ้าง มนุษย์จะสามารถอยู่รอดได้หรือไม่ และเพื่อหาคำตอบทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต 2 ขั้วมหาอำนาจจึงพยายามพิสูจน์หวังแสดงแสนยานุภาพ ภูมิปัญญาและองค์ความรู้วิทยาการสมัยใหม่ที่ก้าวล้ำเหนือชั้นกว่า เพื่อให้นานาประเทศประจักษ์และยอมรับการเป็นมหาอำนาจที่แท้จริง นั่นทำให้ทั้ง 2 ขั้วอำนาจเลือกส่งสิ่งมีชีวิตออกไปนอกโลกโดยเริ่มต้นจากการใช้สัตว์ 
.

fluentwoof 

ดร.ลิบบี้ ไกส์

.
สหรัฐอเมริกาเลือกที่จะใช้ลิงชิมแปนซีในการทดลองเพราะมีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด แต่สหภาพโซเวียตกลับเลือกใช้น้องหมาจรจัดด้วยเหตุผลหลายอย่างเช่น น้องหมาจรจัดนั้นหาง่ายกว่าในกรุงมอสโกมีเร่ร่อนอยู่เต็มไปหมด ส่วนลิงชิมแปนซีมีราคาแพงและมีข้อด้อยในการรับมือกับความเครียดไม่เหมาะกับการทดลอง นอกจากนั้นแล้วยังเป็นสัตว์ที่สามารถแพร่เชื้อโรคสู่คนได้ง่ายกว่ามาก ซึ่งในยุคนั้นพบว่ามีสัตวแพทย์ของสหรัฐอเมริกา 8 ใน 9 ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบจากลิงชิมแปนซีที่นำมาทดลองด้วย
.
ก่อนที่ไลก้าจะถูกสหภาพโซเวียตเลือกให้เข้าร่วมภารกิจ มีน้องหมาอีก 2 ตัวชื่อ อาบิน่าและมูชก้า ได้รับการคัดเลือกให้เข้าฝึกด้วย แต่ขนาดด้วยตัวที่เล็กและลักษณะนิสัยเฉพาะทำให้ไลก้าถูกเลือก
.

NASA

อาบิน่า และ มูชก้า

.
ส่วนภารกิจของไลก้านั้นคือ การเดินทางเที่ยวเดียวและไม่มีตั๋วกลับ ทีมนักวิทยาศาสตร์ต้องการเก็บข้อมูลนำมาพัฒนาโครงการยานอวกาศสำหรับมนุษย์ต่อไปเท่านั้น ตามแผนนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าไลก้าจะสามารถโคจรรอบโลกได้ประมาณ 10 วัน ก่อนที่ออกซิเจนจะหมดและระบบอัตโนมัติจะป้อนอาหารพิษให้กับเธอเพื่อให้เธอจบชีวิตลงโดยไม่ต้องทรมานจากการขาดออกซิเจน แต่โชคร้ายไลก้าจบชีวิตเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้มาก เพราะหลังจากที่พุ่งออกจากพื้นโลกได้เพียงแค่ 5 - 6 ชั่วโมงเท่านั้น ความร้อนในห้องโดยสารที่สูงจนเกินไปก็ทำให้ไลก้าสิ้นใจ...

.

.

 

.
ช่วยกดไลก์ กดแชร์ เป็นกำลังใจให้ Dog’s Clip ด้วยนะครับ
หากมีประสบการณ์ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจของเหล่าเพื่อนสัตว์
อย่าลืมส่งมาแบ่งปันด็อกคลิปนะครับ เรื่องราวของคุณอาจสร้างแรงบันดาลใจ
หรือช่วยให้เหล่าเพื่อนสัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
กดเพื่อเข้าร่วมกลุ่มด็อกคลิป , กดเพื่อส่งเรื่องราวของคุณ หรือติดแฮชแท็ก #dogsclip 

..................................................................
บทความโดย dogsclip.com

“บทความถูกรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยสำนวนของด็อกคลิป บทความมีลิขสิทธิ์ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก และ หรือ ดัดแปลงนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อสร้างรายได้ก่อนได้รับอนุญาต”

.

.